เครื่องมือการเรียนรู้ทางไกล (eDLT)
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ทรงตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีจึงได้วางพระนโยบายให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ดำเนินการเร่งเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่แล้วทั้งภาครัฐและเอกชนและผลิตบุคลากรระดับสูงเพื่อให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นรวมทั้งการเป็นศูนย์กลางในการผลิตและพัฒนบุคลากรระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับประเทศในภูมิภาคและประเทศที่กำลังพัฒนา
จากกิจกรรมที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดมา เป็นที่ประจักษ์แก่นานาชาติ ทำให้องค์การอนามัยโลก แต่งตั้ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ให้เป็น “ศูนย์ความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพของประเทศด้านบุคลากร และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา (WHO Collaborating Center for Capacity Building and Research in Environmental Health Science and Toxicology)” ในปี พ.ศ. 2548
โดยมีกิจกรรมหลัก คือ การจัดทำโครงการฝึกอบรมระยะสั้นในด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย พิษวิทยา รวมทั้งการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยงของการใช้สารเคมีทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค
แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสารเคมี และบุคลากรที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว ยังไม่สามารถพัฒนาความรู้ความเข้าใจได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากติดภารกิจงานประจำ ทำให้ไม่สามารถมาเข้าร่วมการฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ ซึ่งมาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ หรือการทำกรณีศึกษาจากสถานการณ์จริงได้ ซึ่งโดยปกติต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมประมาณ 2-3 สัปดาห์
ดังนั้น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ โครงการระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยทางด้านสารเคมี (International Programme on Chemical Safety – IPCS) ขององค์การอนามัยโลก, มหาวิทยาลับอูเทร็ค ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ มหาวิทยาลัยออตตาวา ประเทศแคนาดา ในการพัฒนา “เครื่องมือการเรียนรู้ทางไกล” (Electronic Distance Learning Tool: eDLT) ด้านการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสารเคมี (Risk Assessment and Risk Management of Chemicals) ภายใต้การสนับสนุนของยุทธศาสตร์การดำเนินงานระหว่างประเทศด้านการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemicals Management – SAICM) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Project – UNEP)
ประกอบด้วยเนื้อหา 8 บทที่ครอบคลุมความรู้ทุกด้านในเรื่องการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยง ได้แก่ บทนำ (Introduction) การจำลองปัญหาที่เกิดขึ้น (Problem Formulation) การประเมินอันตราย (Hazard Assessment) การประเมินการรับสัมผัส (Exposure Assessment) การอธิบายลักษณะความเสี่ยงในคน (Risk Characterization – human) การอธิบายลักษณะความเสี่ยงในระบบนิเวศน์ (Risk Characterization-Ecological) การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และการสื่อสารความเสี่ยง (Risk Communication)
“เครื่องมือการเรียนรู้ทางไกล ด้านการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสารเคมี” นี้ ได้รับการพัฒนาให้อยู่ในลักษณะของการเรียนรู้ผ่านเว็บ (Web-based Learning) ผ่านบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทุกเวลาที่สะดวก และทุกสถานที่ที่เข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ โดยจัดระบบทั้งด้านเนื้อหา สื่อ หรือสถานการณ์จำลองต่างๆ รวมทั้งมีแบบทดสอบความรู้ความเข้าใจในแต่ละบท ให้ตอบสนองต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทำให้การพัฒนาบุคลากรในสาขานี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้มีการทดลองใช้จากผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมด้านการประเมินความเสี่ยงที่สถาบันฯ จัดขึ้น จำนวน 144 คน จาก 19 ประเทศ
และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ได้เสด็จไปทรงเปิดใช้ “เครื่องมือการเรียนรู้ทางไกล ด้านการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสารเคมี” นี้อย่างเป็นทางการ ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และมีการใช้เครื่องมือนี้อย่างต่อเนื่องในการฝึกอบรมหัวข้อ “การประเมินและการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมี (Environmental and Health Risk Assessment and Management of Chemicals)” ซึ่งทางสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จัดขึ้นประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี รวมถึงการฝึกอบรมในระดับภูมิภาคของประเทศสมาชิก ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาและราชอาณาจักรภูฎาน ซึ่งได้รับการตอบรับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำเอกสารประกอบการฝึกอบรม (Peer-reviewed Training Material) ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้แล้ว รวมทั้งคู่มือการใช้งาน (User’s Guide) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างครบวงจร และเกิดประโยชน์สูงสุด
ต่อมา ในการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยการบริหารจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ (Strategic Approach to International Chemicals Management – SAICM) ครั้งที่ 4 นี้ ได้มีการคัดเลือกโครงการที่ SAICM สนับสนุนให้ได้รับรางวัลโครงการที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการลงคะแนนของผู้ที่เข้าร่วมประชุม SAICM Most Outstanding Quick Start Programme Project ซึ่งโครงการพัฒนา เครื่องมือการเรียนรู้ทางไกล (electronic Distance Learning Tool : eDLT) ด้านการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสารเคมี ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “โครงการที่ดีที่สุดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (SAICM Most Outstanding Quick Start Programme Project)” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศ และเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อสุขอนามัยของประชาชนต่อไป โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อขอเข้าใช้ “เครื่องมือการเรียนรู้ทางไกล (eDLT)” นี้ได้ โดยส่งอีเมลไปยัง [email protected] หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.chemDLT.com หรือ download Brochure