ประวัติความเป็นมา
ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎร กอปรกับทรงเข้าพระทัยถึงปัญหาการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งในเรื่องเงินทุนวิจัยที่จำกัดการขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือศึกษาวิจัยที่ทันสมัย และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพสูง อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติ จึงทรงก่อตั้ง “กองทุนจุฬาภรณ์” ขึ้นในขั้นแรก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาการวิจัยและดำเนินงานทางการแพทย์และการสาธารณสุข และต่อมาได้จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิจุฬาภรณ์” เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
และเนื่องในโอกาสปีมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ จึงมีพระดำริให้ก่อตั้ง “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” ขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2530 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารวิจัยเคมี ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พุทธศักราช 2533 เพื่อถวายเป็นพระราชสักการะ โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ “การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสนับสนุนงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” ทั้งนี้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นองค์กรอยู่ในสังกัดมูลนิธิจุฬาภรณ์ และปัจจุบันอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันชั้นนำในการศึกษาและวิจัยที่ได้มาตรฐานสากล โดยอาศัยการบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ในโครงการวิจัยด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย การป้องกัน และรักษาโรค ในฐานะองค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้พระราชทานพระนโยบายให้มีการนำความรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยสนับสนุนการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศเป็นหัวใจหลักสำคัญด้วย เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน