การประยุกต์ใช้งานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
จากผลงานวิจัยต้นน้ำ ทางห้องปฏิบัติการฯได้มีการบูรณาการศาสตร์ต่างๆเข้าด้วยกัน อาทิ งานทางด้านพอลิเมอร์ งานทางด้านวัสดุการแพทย์ เพื่อการต่อยอดงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง เช่น การผลิตสารมาตรฐานเพื่อส่งเสริมการส่งออกและบูรณาการพืชกระท่อม การต่อยอดการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นต้น
ตัวอย่างงานวิจัยด้านการประยุกต์ใช้ ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดและน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร เช่น การทำครีมฆ่าเชื้อจากเปลือกมังคุด ข่า พลู ขมิ้นขาว และมหาหงส์ งานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์ เพื่อต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ภายในประเทศ เช่น การพัฒนาวัสดุปิดแผลสองชั้น (double layer-wound dressing) จากพอลิเมอร์ชีวภาพ (Biopolymer) ที่ผสมสารสกัดจากสมุนไพรไทย โดยชั้นที่ 1 เป็นแผ่นแบคทีเรียเซลลูโลสที่เลี้ยงด้วยน้ำมะพร้าวที่ช่วยคงความชุ่มชื้นแก่แผล ง่ายต่อการลอกออก ช่วยซับสารคัดหลั่งจากบาดแผล และชั้นที่ 2 เป็นเส้นใยนาโนโพลิแลคติกแอซิดที่ขึ้นรูปด้วยเทคนิคอิเล็กโตรสปิน (electrospinning process) ผสมสารสกัดจากข้าวและน้ำมันหอมระเหยจากสาบหมา (รูปที่ 1) โดยสารสกัดจากข้าวมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและน้ำมันหอมระเหยจากสาบหมามีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และจากการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ พบว่าวัสดุปิดแผลสองชั้นที่ผสมสารสกัดข้าวและน้ำมันหอมระเหยไม่เป็นพิษต่อเซลล์ Human Dermal Fibroblasts และเซลล์ human keratinocyte (HaCaT) งานวิจัยดังกล่าวจึงเป็นการพัฒนาวัสดุปิดแผลที่มีประสิทธิภาพขึ้นใช้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สามารถรองรับการรักษาผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ
อีกหนึ่งตัวอย่างงานวิจัยด้านการประยุกต์ใช้ จะเป็นการนำหลักการเกี่ยวกับโครงร่างเลี้ยงเซลล์ (scaffolds) ซึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่ต้องการให้เจริญเติบโตในวัสดุทดแทนเนื้อเยื่อ จากนั้นนำไปปลูกถ่ายในตำแหน่งที่ต้องการเพื่อทำหน้าที่เป็นโครงวัสดุที่ทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ และจะย่อยสลายเมื่อมีการทดแทนของเนื้อเยื่อ โดยอาศัยหลักการดังกล่าว นำไปสู่งานวิจัยพัฒนาวัสดุปลูกกระดูกทางด้านทันตกรรม (dental tissue scaffolds) (รูปที่ 2) ในรูปแบบไฮโดรเจลสำหรับฉีดจากวัสดุคอมโพสิตอัลจิเนต เส้นใยไหมไฟโบรอินและอนุภาคไฮดรอกซีอะปาไทท์ โดยทำการสังเคราะห์อนุภาคไฮดรอกซีอะปาไทท์จากเปลือกไข่ด้วยวิธีการตกตะกอนทางเคมี ซึ่งจะให้วัสดุเซรามิกจากแคลเซียมฟอสเฟตที่มีองค์ประกอบทางเคมีและโครงสร้างผลึกคล้ายคลึงกับองค์ประกอบหลักของกระดูกและฟัน เส้นใยไหมไฟโบรอินจากการสกัดเศษรังไหม จะเป็นเส้นใยโปรตีนที่เข้ากันได้ดีกับร่างกาย มีลักษณะคล้ายกับคอลลาเจนในกระดูกและฟัน ถือเป็นการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อผลิตวัสดุทางการแพทย์ขึ้นใช้ภายในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ได้ อันจะส่งผลให้สถานพยาบาลและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยในอนาคตทีมวิจัยได้เตรียมที่จะทำการทดลองในระดับสัตว์ทดลองและในมนุษย์เป็นลำดับต่อไป เป็นการต่อยอดการนำเทคโนโลยีทางด้านโพลิเมอร์ควบคู่กับการพัฒนาด้านการแพทย์ เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย และเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานวิจัยของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป