บทสัมภาษณ์ ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน

12 เม.ย. 2565
0

บทสัมภาษณ์ ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน
รายการ บันทึกสถานการณ์ ในช่วงโลกสวยด้วยสิ่งแวดล้อม
วันที่ 5 เมษายน 2565
ออกอากาศ เวลา 08.00-09.00 น. FM 92.5 MHz / AM 891 KHz
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ดำเนินรายงานโดย คุณนันทคม ประสาทพร และ คุณกัญญ์ณาณัฏฐ์ ภาธรสืบนุกูล สัมภาษณ์ ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญ
ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
เรื่อง “Microbial Source Tracking: เทคโนโลยีเพื่อการติดตามแหล่งปนเปื้อนจาก
น้ำเสียสู่การบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน”
รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2565
สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย


คุณกัญญ์ณาณัฏฐ์ :

ช่วยอธิบายแนวคิดและที่มาของงานวิจัยค่ะ

ดร.ขวัญรวี :

แนวคิดและที่มาคือต้องการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของหลายพื้นที่ และมองว่าทุกคนมีส่วนทำให้เกิดน้ำเสีย ถ้าเกิดมีการใช้น้ำก็เกิดน้ำเสียขึ้น และมาจากกิจกรรมหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน เกษตรกรรม ปศุสัตว์ อุตสาหกรรมพาณิชยกรรม ซึ่งเกิดมาควบคู่กับความเจริญของประเทศในด้านต่างๆ และการขยายตัวของชุมชน น้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมเหล่านี้ หากไม่ได้รวบรวมและนำไปบำบัดที่ดี ก็จะสามารถปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แม่น้ำลำคลอง สุดท้ายลงไปสู่ทะเลได้ ซึ่งเมื่อก่อนความสกปรกที่ลงสู่แม่น้ำนั้นมีอยู่น้อย แหล่งน้ำก็จะสามารถฟื้นฟูตัวเองกลับมาได้ แต่ปัจจุบันแหล่งกำเนิดน้ำเสียมีมากขึ้น คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากขึ้น เกินความสามารถที่แหล่งน้ำจะฟื้นฟูตัวเองได้ เพราะฉะนั้นโครงการนี้ มีที่มาว่าใช้ตัวจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์แต่ละประเภท เพื่อหาตัวจุลินทรีย์ที่มีความจำเพาะ อย่างเช่น จำเพาะกับลำไส้ ทางเดินอาหารของคนเท่านั้น เพื่อนำมาใช้เป็นดัชนีที่ระบุว่ามีการปนเปื้อนจากน้ำเสียชุมชน เมื่อเราไปตรวจในแหล่งน้ำธรรมชาติและพบดัชนีตัวนี้ ก็จะระบุได้ว่ามีการปนเปื้อนจากแหล่งน้ำจากที่ใด และมีการตรวจวัดจุลินทรีย์ต่างๆที่จำเพาะกับสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น สุกร โค เป็นต้น ซึ่งสามารถนำตัวดัชนีนี้ไปตรวจ และก็ระบุได้ว่ามีการปนเปื้อนจากปศุสัตว์ หรือว่าเป็นการปนเปื้อนจากชุมชน เป็นต้น

คุณนันทคม :

คือตรวจได้ทุกแบบ ทุกประเภทน้ำ คนและสัตว์ และแหล่งน้ำธรรมชาติด้วย ถูกต้องหรือไม่ครับ


ดร.ขวัญรวี :

ใช่ค่ะ ณ ตอนนี้ได้มีการพัฒนาเทคนิควิธีเรื่อยๆ ให้สามารถครอบคลุมตัวแหล่งกำเนิดที่มีความสำคัญ ในปัจจุบันก็คือ จะตรวจวัดน้ำเสียชุมชนได้ และฟาร์มปศุสัตว์ หลักๆ ก็จะเป็นสุกร และโค และมีการพัฒนาต่อเนื่องครอบคลุมไปยังสัตว์ประเภทต่างๆ


คุณกัญญ์ณาณัฏฐ์ :

การนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรคะ


ดร.ขวัญรวี :

โครงการวิจัยนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการที่หลากหลาย ทั้งแบบการตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ หรือการเพาะเชื้อ ซึ่งได้มีการศึกษา เปรียบเทียบข้อได้เปรียบ ข้อจำกัด ความเหมาะสมต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ เรามีการทำวิจัยในพื้นที่ต้นแบบ โดยที่ผ่านมาจะเน้นในส่วนของพื้นที่ภาคกลาง เช่น แม่น้ำท่าจีน ซึ่งจะมีแหล่งกำเนิดหลายๆประเภท เช่น ชุมชน และฟาร์มปศุสัตว์ และแม่น้ำเจ้าพระยา และขยายไปยังชายหาดท่องเที่ยว เพื่อที่จะดูว่ามีการปนเปื้อนน้ำเสียมาจากแหล่งใด และสามารถขยายไปยังการประเมินความเสี่ยงที่จะบ่งบอกได้ว่า ถ้าเกิดว่ามีผู้ลงไปเล่นน้ำในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อน และระยะเวลาการลงไปเล่นน้ำ อาจจะมีความเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพ เกิดการเจ็บป่วยได้

ผลงานวิจัยที่เกิดจากการพัฒนาในห้องปฏิบัติการ ตอนนี้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานต่างๆ เรามีความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ ที่ช่วยตรวจสอบแหล่งที่มาของน้ำเสีย ยืนยันว่ามาจากการปนเปื้อนน้ำเสียชุมชน ในบางพื้นที่ที่ทางกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว

ในปัจจุบันเรามีโครงการวิจัยร่วมกับการประปานครหลวง ซึ่งการประปานครหลวงมีความต้องการที่จะทราบเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษในส่วนของแหล่งน้ำดิบที่จะนำมาทำน้ำประปา ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการขยายผลนำผลงานจากห้องวิจัยไปตอบโจทย์จริงในชีวิตจริงและในหน่วยงานต่างๆ


คุณนันทคม :

ใช้เวลาในการศึกษาวิจัยนานมั้ยครับ กว่าจะประสบผลสำเร็จ และถูกนำมาใช้งานจริง


ดร.ขวัญรวี :

เริ่มทำมาค่อนข้างนาน ถ้ามองในส่วนของชุดโครงการที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ จากสำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประมาณ 5-6 ปี ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการพัฒนาวิธีวิจัยในห้องปฏิบัติการหลายๆวิธี และนำมาเปรียบเทียบกัน ศึกษาลักษณะเฉพาะของแต่ละวิธี และพัฒนามาเป็นขั้นตอนการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ ขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การเก็บตัวอย่างจนถึงขั้นตอนการวิเคราะห์ และนำไปใช้ในพื้นที่จริง ขยายผลมาที่การประเมินความเสี่ยง และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ และก็ทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องในด้านนี้


คุณกัญญ์ณาณัฏฐ์ :

มีโอกาสที่จะต่อยอดงานวิจัยนี้ในอนาคตหรือไม่คะ


ดร.ขวัญรวี :

ค่ะ อยากที่จะพัฒนาวิธีให้ตรวจวัดแหล่งกำเนิดน้ำเสียได้จากหลายๆ แหล่งมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีการวิจัยอยู่ และในส่วนของการพัฒนาในเรื่องของเทคนิควิธี จะพยายามที่จะทำให้นำไปใช้ในภาคสนามได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น และมีต้นทุนต่ำลง

ในลักษณะตอนนี้เรามีความพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้น และข้อมูลต่างๆที่เรารวบรวมเป็นชุดองค์ความรู้ พร้อมที่จะนำไปต่อยอดใช้งานในหลายๆพื้นที่ เพื่อเป็นการตอบโจทย์แก้ไขปัญหาลักษณะเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ อย่างประเทศไทยจะมีแม่น้ำสายหลักและสายย่อยอยู่ทั่วประเทศ แต่ละที่อาจจะประสบปัญหาที่แตกต่างกัน ในการนำงานวิจัยไปใช้จะต้องมีการสำรวจพื้นที่ วางแผน ระบุจุดเก็บตัวอย่างต่างๆ ก็น่าจะนำไปใช้ตอบโจทย์ได้ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาได้หลายพื้นที่


คุณนันทคม :

การนำเทคโนโลยีนี้ ไปใช้ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะต้องมีตัวแทนหรือเครือข่ายที่ต้องมาศึกษาหาความรู้กับเราก่อนหรือไม่ครับ ถึงจะนำไปใช้ได้ หรือจะมีตัวแทนจากทางเราไปเป็นผู้ตรวจสอบเอง


ดร.ขวัญรวี :

ได้ทั้งสองแบบค่ะ เพราะว่าในช่วงหลายๆปีที่เราพัฒนางานวิจัยขึ้นมา เราก็พัฒนาคู่มือด้วย ห้องปฏิบัติการใดที่มีความพร้อมในเครื่องมือสามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ได้ และทางเราก็พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อที่จะได้กระจายไปสู่ภาคต่างจังหวัด และสามารถทำให้เกิดความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างแท้จริง

และอยากจะเน้นว่าตัวงานวิจัยนี้จะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการนำไปสู่การจัดการมลพิษที่ต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของแผนแม่บทการจัดการคุณภาพน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การตอบโจทย์ของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ด้วย


คุณนันทคม :

งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2565 คือปีล่าสุดเลยใช่ไหมครับ


ดร.ขวัญรวี :

ใช่ค่ะ เป็นรางวัลที่ทีมวิจัยภาคภูมิใจ และขอขอบพระคุณที่ทางหน่วยงานให้ความสำคัญ ซึ่งงานวิจัยได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่พัฒนาวิธี ไปจนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ และตอนนี้ก็มีผู้ที่เห็นความสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ และเราก็คิดว่ารางวัลนี้เป็นรางวัลที่ตอบแทนความพยายามของเรา และหวังว่าผลงานวิจัยนี้สามารถนำไปช่วยตอบโจทย์ประเทศในวงกว้างมากขึ้นต่อไปได้


คุณนันทคม :

เพราะฉะนั้น ภาคอุตสาหกรรมภาคเอกชน สามารถจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ นำไปใช้จัดการแหล่งน้ำในโรงงานของเขาเองได้ไหมครับ


ดร.ขวัญรวี :

ค่ะ ถึงแม้ว่างานวิจัยนี้ เราจะดูในส่วนของน้ำเสียที่มาจากสิ่งปฏิกูล อาจจะมาจากห้องน้ำ หรือว่าเป็นในส่วนของคน ของสัตว์ แต่ว่าโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท เขาจะสามารถปล่อยตัวแบคทีเรีย จุลินทรีย์ได้ด้วย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ซึ่งบางครั้งแบคทีเรียที่ปนเปื้อนออกมาก็จะทำให้เราเข้าใจผิดว่าเป็นแบคทีเรียที่มาจากแหล่งชุมชน เพราะฉะนั้นการตรวจด้วยเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำไปตอบโจทย์ได้ว่ามาจากโรงงานหรือไม่ หรือว่าในส่วนของโรงงานเองที่อาจจะเป็นโรงงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวการปล่อยเชื้อมลพิษแบคทีเรีย แต่สามารถที่จะใช้ส่วนนี้ส่งเสริมด้าน CSR ของโรงงานได้ หากโรงงานตั้งอยู่ใกล้ชิดแหล่งชุมชน สามารถใช้เพื่อตอบโจทย์ว่าแหล่งกำเนิดน้ำเสียมาจากที่ใด ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างโรงงานกับชุมชนพัฒนาขึ้นไปได้ และสามารถแก้ไขปัญหามลพิษบริเวณโรงงานหรือชุมชนเหล่านั้นได้ด้วย


คุณกัญญ์ณาณัฏฐ์ :

ถ้าโรงงานหรือชุมชนต่างๆ มีความสนใจในงานวิจัยนี้ สามารถนำงานวิจัยนี้ไปใช้ได้อย่างไร หรือต้องติดต่อใครคะ


ดร.ขวัญรวี :

สามารถติดต่อโดยตรงมาที่ ดร.ขวัญรวี หรือสามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ก่อนได้ค่ะ สามารถค้นหาชื่อ ดร.ขวัญรวี และจะมีส่วนของอีเมล และเบอร์โทรติดต่อ สามารถติดต่อเข้ามาได้ค่ะ


คุณกัญญ์ณาณัฏฐ์ :

เผื่อจะได้พูดคุย ขอคำปรึกษา คำแนะนำที่จะนำไปใช้ ถือว่าเป็นประโยชน์มาก และวันนี้ต้องขอบพระคุณ ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน ที่เข้ามาพูดคุยกับเรา ค่ะ


ดร.ขวัญรวี :

ขอบคุณค่ะ สวัสดีค่ะ

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด