การจัดตั้งคลังชีววัตถุ และโครงการวิจัยเรื่องมะเร็งตับและท่อน้ำดี (TIGER-LC)
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องทำการวิจัยโรคมะเร็ง ทรงแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันชั้นนำในระดับนานาชาติ และของประเทศด้านโรคมะเร็ง ทำให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับชั้นนำของโลกจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจในการทำวิจัยเรื่องมะเร็งตับและท่อน้ำดีร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้โครงการชื่อ Thailand’s Initiative in Genomics and Expression Research for Liver Cancer หรือ TIGER-LC โดยในระยะแรก สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้วางโครงการในลักษณะ multi-institutional collaboration ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลในเครือข่าย โดยมีการจัดพิธีลงพระนามและลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยเรื่องมะเร็งตับและท่อน้ำดีในประเทศไทย ระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และหน่วยงานดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553 นับเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งตับและท่อน้ำดีในประเทศไทย ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวได้มีการริเริ่มโครงการจัดตั้งคลังชีววัตถุและวิจัยเรื่องมะเร็งตับและท่อน้ำดี เพื่อเก็บตัวอย่างชีววัตถุประเภทต่างๆ จากผู้ป่วยมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี จัดตั้งคลังชีววัตถุโรคมะเร็ง เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยในระดับโมเลกุล ในการหาแนวทางพยากรณ์วินิจฉัยโรค และรักษาผู้ป่วยในอนาคต
พิธีลงพระนามและลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยเรื่องมะเร็งตับและท่อน้ำดีในประเทศไทย ระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553
พิธีลงพระนามและลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัย TIGER-LC
ร่วมกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ต่อมา โครงการวิจัย Thailand Initiative on Genomics and Expression for Liver Cancer (TIGER-LC) จึงได้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กับหน่วยงานในประเทศไทย และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพิธีลงนามและลงพระนามข้อตกลงความร่วมมือ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เพื่อทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรม, สิ่งแวดล้อม และ/หรือสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งตับและท่อน้ำดี จากการวิจัยในกลุ่มอาสาสมัครชาวไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพยากรณ์ วินิจฉัย หรือการรักษาโรค เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรไทยให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต
อาสาสมัครที่เป็นเป้าหมายในโครงการนี้ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับ (hepatocellular carcinoma หรือ HCC), และกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma หรือ CCA), กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มตับอักเสบเรื้อรัง (chronic liver disease หรือ CLD) กลุ่มตับอักเสบเรื้อรังเนื่องจากพยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini หรือ OV) และกลุ่มคนสุขภาพดี (control หรือ CTR) เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ จำนวนทั้งสิ้น 6,000 ราย โดยจะมีการเก็บชีววัตถุของอาสาสมัครเหล่านี้ เช่น เลือด น้ำลาย ปัสสาวะ และชิ้นเนื้อ (กรณีที่มีการผ่าตัด) รวมถึงข้อมูลของอาสาสมัคร เช่น ข้อมูลจากแบบสอบถามและข้อมูลทางการแพทย์ จากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมโครงการมารวบรวมที่คลังชีววัตถุของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับการเก็บชีววัตถุ และระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันข้อมูลสูญหายอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีผู้ประสานงานโครงการประจำเพื่อดูแลเรื่องการเก็บ, การแยกส่วนประกอบต่างๆ ของตัวอย่าง รวมถึงการนำส่งตัวอย่างและข้อมูลอาสาสมัคร สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการอบรมผู้ประสานงานทุกหน่วยให้ปฏิบัติด้วยวิธีเดียวกันเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน และมีการติดตามผลและการดำเนินการสม่ำเสมอ เช่น การรายงานผลจากผู้ประสานงานทุกหน่วย และการประชุมทางไกลกับหน่วยงานที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ทุกเดือน รวมถึง การจัดประชุมระหว่างหน่วยงานไทยเป็นประจำ และการประชุมระหว่างหน่วยงานไทยและต่างประเทศทุกปีรวมถึงมีการออกพื้นที่ตามหน่วยงาน เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการเป็นระยะและนำข้อมูลที่ได้รับมาปรับแนวทางและแก้ไขอุปสรรค เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ
กระบวนการเก็บชีววัตถุจากหน่วยงานที่ร่วมโครงการมายังคลังชีววัตถุที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ตั้งแต่เริ่มโครงการมาจนถึงปัจจุบัน โครงการนี้มีอาสาสมัครเข้าร่วมในโครงการมากกว่า 4,900 ราย โดยมีจำนวนตัวอย่างในคลังชีววัตถุมากกว่า 35,000 ตัวอย่าง ซึ่งตัวอย่างชีววัตถุเหล่านี้ได้ถูกเก็บไว้ในอุณหภูมิและสภาวะที่เหมาะสม เพื่อให้คงคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีข้อมูลของอาสาสมัครสำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งตับและท่อน้ำดีในอนาคต