การพัฒนาการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมในระดับกิโลกรัม

   กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (API) ที่พัฒนาขึ้นจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรม จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาขั้นตอนการสังเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพสูงและสามารถนำไปใช้ได้จริง ดังนั้นห้องปฏิบัติการฯจึงได้เลือกสังเคราะห์สาร API บางตัวในระดับนำร่อง  เพื่อเป็นการทดสอบกระบวนการสังเคราะห์ในระดับสเกลที่ใหญ่ขึ้น ให้มีความปลอดภัยในระหว่างกระบวนการผลิต มีขั้นตอนการทำให้สารที่สังเคราะห์ได้มีความบริสุทธิ์ซึ่งสามารถใช้งานได้จริงในระดับอุตสาหกรรม เช่นการตกผลึกของของแข็ง หรือการกลั่นสารที่เป็นของเหลว งดเว้นหรือหลีกเลี่ยงการนำกระบวนการทางโครมาโตกราฟีมาใช้เพื่อสารให้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เครื่องมือในกระบวนการแยกสารที่อยู่ในชั้นสารอินทรีย์กับชั้นน้ำ รวมทั้งการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่เหมาะสมเช่น โครมาโตกราฟีของเหลวสมรรถนะสูงในการติดตามปฏิกิริยาเคมีในระหว่างขั้นตอนการสังเคราะห์ที่สามารถวิเคราะห์ได้แม้ในขณะที่ปฏิกิริยายังดำเนินอยู่ได้ด้วย

   ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ห้องปฏิบัติการฯได้ทำการเตรียมสารต้านไวรัสที่มีชื่อว่าโมลนูพิราเวียร์โดยใช้ไซทิดีนเป็นสารตั้งต้นจากการใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางเคมีเพียงอย่างเดียวหรือการใช้เอนไซม์ที่ตรึงบนวัฏภาคของแข็ง ซึ่งกระบวนการทั้งสองให้โมลนูพิราเวียร์ในระดับกิโลกรัมได้โดยใช้เพียง 2-3 ขั้นตอน อนึ่งการใช้เอนไซม์เพื่อเป็นตัวเร่งทางชีวภาพในการสังเคราะห์ ยังสอดคล้องและสนองนโยบายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐบาลไทย ในโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (bio-circular-green economy, BCG)

แท็ก

แชร์