การศึกษาและฝึกอบรม
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจัดกิจกรรมครอบคลุมทั้งโครงการศึกษาฝึกอบรมระยะสั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ได้รับความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และโครงการด้านการศึกษาระยะยาว เช่น โครงการบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโทและเอก เพื่อผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง เป็นต้น รวมถึงการจัดการสัมมนาและการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ
การศึกษา
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ร่วมจัดการเรียนการสอน การวิจัยร่วมกับสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ในหลักสูตรบัณฑิตศึกษา (ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก) 3 หลักสูตร ได้แก่
1. วิทยาศาสตร์ชีวภาพประยุกต์: อนามัยสิ่งแวดล้อม (Applied Biological Sciences: Environmental Health) และ
2. พิษวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental Toxicology)
3. วิทยาศาสตร์เคมี (Chemical Sciences)
เพื่อผลิตบัณฑิตศึกษาซึ่งประเทศมีความต้องการและเป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยใช้งานวิจัยนำ มีการวางโครงการวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์รองรับ ให้นักศึกษาได้มีโอกาสร่วมดำเนินการวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์
การผลิตบุคลากรระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากบัณฑิตจะมีความเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ของภูมิภาค เช่น ปัญหาสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลให้เกิดโรคในคนได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคของระบบไหลเวียนโลหิต เป็นต้น เป็นที่คาดหวังว่าบัณฑิตของหลักสูตรดังกล่าวนี้ จะความสามารถนำความรู้จากการวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม พิษวิทยา ความปลอดภัยของสารเคมี และการพัฒนายา มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ เพิ่มเติมได้ที่ www.cgi.ac.th
การฝึกอบรม
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จัดการฝึกอบรมระยะสั้นในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และนานาชาติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม พิษวิทยาและการประเมินความเสี่ยงของสารเคมี ภายใต้การดำเนินการของศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยานานาชาติ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ICEHT/โครงการฝึกอบรม) ให้แก่ภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยตลอดถึงประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศกลุ่มอาเซียนและประเทศกำลังพัฒนา โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยากรของสถาบันต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงจากทั้งยุโรปและอเมริกา เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ทำให้บุคลากรที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำสารเคมีมาใช้ที่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยต่อไป
นอกจากด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม พิษวิทยาและการประเมินความเสี่ยงของสารเคมีแล้ว สถาบันฯ ยังให้ความสำคัญในการจัดการบรรยายพิเศษ การสัมมนา และการประชุมวิชาการในด้านเคมี (ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีอินทรีย์สังเคราะห์ และเภสัชเคมี) และด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยอาศัยความร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในกิจกรรมที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จัดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคนิคของนักวิทยาศาสตร์ไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศ จากการถ่ายทอดเทคนิคการวิจัย การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน