ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) – ข้อมูลวิชาการที่น่ารู้

16 ก.พ. 2559
0

ดร.นุชนาถ รังคดิลก, นันทนิจ ผลพนา และรศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์
ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI), สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ (CGI)
และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา

ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees) เป็นสมุนไพรที่ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข มีข้อบ่งใช้ คือ แก้ไข้ เจ็บคอ รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ โดยใช้เป็นแคปซูล/ยาเม็ด/ยาเม็ดลูกกลอน ที่บรรจุผงฟ้าทะลายโจรอบแห้งปริมาณต่างๆกัน ปัจจุบันมีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรจำหน่ายในท้องตลาดทั้งที่ผลิตจากโรงงานผลิตยาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข และในลักษณะผลิตภัณฑ์จากชุมชน (OTOP) เพื่อใช้ในบรรเทาอาการหวัดเจ็บคอ รักษาโรคระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารอย่างแพร่หลายจากรายงานผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่า สารสกัดสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลาย เช่น ฤทธิ์ต้านไวรัส HIV1 ไข้หวัด (common cold)2 ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน4 ลดความดันเลือด5,6 ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด7 ป้องกันความเป็นพิษของตับ8 ลดไข้และต้านการอักเสบ9,10 และฆ่าเชื้อมาลาเรีย11 เป็นต้น

ได้มีการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วย 158 คน ที่ประเทศชิลี เพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจรในการรักษาอาการอันเนื่องจากหวัด (common cold) พบว่า ในวันที่ 4 ของการให้ยา สารสกัดใบฟ้าทะลายโจรขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถลดอาการรุนแรงของโรคอันเนื่องจากหวัด เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดหัว น้ำมูกไหล ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ยาหลอก2 จากการศึกษาโดยนักวิจัยในประเทศไทย (Thamlikitkul et al., 1991) ในผู้ป่วยที่มีอาการ pharyngotonsilitis 152 คน ที่ได้รับยาพาราเซตามอล หรือฟ้าทะลายโจรขนาด 3 กรัมต่อวัน หรือฟ้าทะลายโจรขนาด 6 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 7 วัน พบว่า ในเวลา 3 วันแรก กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรขนาดสูง 6 กรัมต่อวัน มีผลช่วยลดอาการไข้และอาการเจ็บคอได้ 80-90% แต่เมื่อถึงวันที่ 7 ไม่พบความแตกต่างในทั้ง 3 กลุ่ม9 แต่อย่างไรก็ตาม สารสำคัญที่มีอยู่ในฟ้าทะลายโจรจะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทราบปริมาณสารสำคัญที่จะนำไปใช้ เพื่อให้การใช้ป้องกันและรักษาโรคแต่ละชนิดได้อย่างเหมาะสมกับสารสำคัญที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆซึ่งจะทำให้การนำไปใช้มีประสิทธิภาพดี กล่าวคือ ป้องกันและรักษาโรคได้ มีอาการข้างเคียงน้อย และราคาถูกปัจจุบันมีการปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อใช้ผลิตเป็นยาใช้ในโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้เริ่มทำการปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ในโครงการทับทิมสยาม 05 ที่อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว โดยเป็นโครงการนำร่องเพื่อสอนให้ชาวบ้านมีทักษะในการปลูกสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ และรับซื้อผลผลิตจากชุมชนดังกล่าวมาทำการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการของสถาบันฯ เพื่อหามูลค่าเพิ่มของสมุนไพรนี้ต่อไป

ชื่อวิทยาศาสตร์: Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees (วงศ์ Acanthaceae)

ชื่ออื่น:
ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน

ลักษณะพืช:

ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 30-60 ซม. ลำต้นตั้งตรงกิ่งก้านเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 4-10 ซม. โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน ก้านใบยาว 2-8 มม. ดอกออกเป็นช่อใหญ่ที่ปลายกิ่งและซอกใบ ช่อโปร่งยาว 5-30 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกสีขาวแกมม่วง มีขน กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ผลเป็นฝัก รูปทรงกระบอก สีเขียวอมน้ำตาล ปลายแหลม เมื่อผลแก่จะแตกดีดเมล็ดออกมา มีเมล็ด 8-14 เมล็ด ขนาดเล็ก สีน้ำตาลแดง ใช้เมล็ดขยายพันธุ์ เนื่องจากเมล็ดฟ้าทะลายโจรมีเปลือกหุ้มหนาและแข็ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการงอก นอกจากนี้เมล็ดยังมีการพักตัว จึงควรแก้การพักตัวของเมล็ดก่อนนำไปเพาะหรือก่อนการปลูก12


แหล่งกระจายพันธุ์:
ฟ้าทะลายโจรมีเขตการกระจายพันธุ์ และเขตการเพาะปลูกได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อน หรือร้อนชื้น


การเพาะปลูก:
เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่ฤดูที่เหมาะสมคือ ช่วงต้นฤดูฝน ชอบดินร่วนซุยที่มีการระบายน้ำดี เจริญเติบโตได้ทั้งในสภาพที่ร่มและกลางแจ้ง ถ้าปลูกในพื้นที่กลางแจ้งจะมีลำต้นเตี้ยและใบหนา ส่วนในที่ร่มลำต้นจะสูงใบใหญ่แต่บาง พื้นที่ปลูกจึงควรเป็นที่โล่งแจ้ง หรือมีแสงรำไรและมีน้ำอุดมสมบูรณ์


ส่วนที่ใช้ประโยชน์:
ส่วนเหนือดิน (ทั้งต้น)


สารสำคัญ

สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone เช่น สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) นีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (Neoandrographolide) ดิออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxyandrographolide) และดิออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide) เป็นต้น ซึ่งมีสูตรโครงสร้างทางเคมี ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 สูตรโครงสร้างของสารสำคัญที่พบในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร


งานวิจัยสมุนไพรฟ้าทะลายโจรของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์


1. การศึกษาด้านพฤกษเคมี

ในระยะแรกการศึกษาทางเคมีของฟ้าทะลายโจร คือ ทำการวิเคราะห์หาปริมาณแลคโตนรวม ซึ่งทำได้โดย นำผงสมุนไพรบดละเอียดมาทำการสกัดด้วยเอธานอล (reflux) จากนั้นนำสารละลายไปทำปฏิกิริยากับสารเคมีต่างๆหลายขั้นตอน และขั้นสุดท้ายไตเตรทกับสารละลายกรดไฮโดรคลอริก ตามข้อกำหนดของ Thai Herbal Pharmacopoeia I จะกำหนดให้วัตถุดิบส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร มีปริมาณ Total lactone ไม่น้อยกว่า 6% โดยคำนวณเป็น andrographolide

ต่อมาสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณของสารสำคัญชนิดต่างๆในฟ้าทะลายโจร โดยการใช้เทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) ซึ่งตอนเริ่มต้นสามารถทำการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรได้ 3 ชนิด ได้แก่ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide-AP1), ดิออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide-AP3) และนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (Neoandrographolide-AP4) โดยใช้เมทธานอลเป็นตัวทำละลาย ซึ่งวิธีวิเคราะห์นี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ Phytochemical Analysis ในปี 2004 โดย Pholphana et al.13 ซึ่งการวิธีวิเคราะห์นี้เป็นวิธีที่ง่ายและสามารถทำการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดนี้ได้จากการฉีดสารตัวอย่างสมุนไพรครั้งเดียว และได้ทำการจดอนุสิทธิบัตรวิธีการเตรียมสารสกัดและวิธีการวิเคราะห์แล้ว (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 1862 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548)14 แต่ปัญหาอีกอย่างของการวิเคราะห์สมุนไพรก็คือ การขาดแคลนสารมาตรฐานที่จะใช้ในการวิเคราะห์ ซึ่งมีราคาแพง และบางชนิดไม่มีจำหน่าย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงได้ทำการสกัดและแยกสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิดนี้จากฟ้าทะลายโจรขึ้นเอง โดย ศ.ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ และคณะนักวิจัยของห้องปฏิบัติการเภสัชเคมี ทำให้ได้สารที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า 95% และสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด ได้ถูกนำมาใช้เป็นสารมาตรฐานในการควบคุณภาพตัวอย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและสารสกัดฟ้าทะลายโจรก่อนนำไปทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่อไป แต่ต่อมาทางสถาบันฯสามารถที่จะแยกสารบริสุทธิ์จากฟ้าทะลายโจรได้อีก 1 ชนิด คือ สารดิออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxyandrographolide-AP6) ซึ่งเป็นสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งในฟ้าทะลายโจร และได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากเดิมเพื่อให้สามารถแยกสารสำคัญทั้ง 4 ชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น รูปแบบสารสำคัญในตัวอย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ดังแสดงในรูปที่ 2 วิธีการตรวจวิเคราะห์นี้ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ปี 2013 ในวารสาร Chinese Medicine15

รูปที่ 2 รูปแบบสารสำคัญในสมุนไพรฟ้าทะลายโจรอาศัยการตรวจวัด โดยใช้เทคนิค HPLC


2. การศึกษาด้านเภสัชวิทยาและพิษวิทยา

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างๆ โดยสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่นำมาทดสอบนั้น จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในสารสกัดก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ทราบปริมาณสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ที่แน่นอน สารสกัดที่นำมาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสารสกัดน้ำที่ทำเป็นผงแห้งแล้ว โดยใช้เครื่องทำให้เป็นผงแห้งโดยใช้ความร้อน (Spray Dryer)

2.1 ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ

สถาบันฯได้ทำการทดสอบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำฟ้าทะลายโจรด้วยวิธี DPPH assay พบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ในระดับปานกลาง โดยมีค่า SC50 (ค่าที่กำจัดอนุมูลอิสระได้ 50%) เท่ากับ 75-78 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร

2.2 ฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย

ทำการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphyloccus aureus ATCC 25923 ของสารสกัดน้ำฟ้าทะลายโจร โดยใช้วิธี Broth Macrodilution Method ผลการทดลอง พบว่า ค่า MIC (Minimum Inhibition Concentration-ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้) เท่ากับ 32 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร

2.3 ฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลอง

ศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum (94) ในหลอดทดลองของสารสกัดน้ำฟ้าทะลายโจร ผลการทดลอง พบว่า มีค่า IC50 (Inhibition Concentration–ค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ 50%) เท่ากับ 418.25 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งตามเกณฑ์ของห้องปฏิบัติการฯ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ และสารบริสุทธิ์ AP1 (Andrographolide) และ AP3 (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide) ให้ผลดีกว่า AP4(Neoandrographolide)

2.4 ฤทธิ์ในการต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด

ในการศึกษาวิจัยนี้ได้ทำการทดสอบฤทธิ์ของสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด ที่มีอยู่ในฟ้าทะลายโจรและสารสกัดน้ำของฟ้าทะลายโจรในการต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วย Thrombin ในหลอดทดลอง ผลการทดลองพบว่า 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) มีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดได้ดีกว่า andrographolide (AP1) ในขณะที่ neoandrographolide (AP4) ไม่มีผล นอกจากนี้สารสกัดน้ำของฟ้าทะลายโจรก็มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดได้ดีด้วยเช่นกัน ซึ่งผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ European Journal of Pharmacology ในปี 2549 โดย Thisoda et al.7

2.5 ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

เนื่องจากมีรายงานว่า สาร 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) มีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดได้ดี ดังนั้นทางสถาบันฯจึงได้ทำการศึกษาว่าสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด รวมทั้งสารสกัดฟ้าทะลายโจรจะมีฤทธิ์ต่อหลอดเลือดและหัวใจในสัตว์ทดลองแตกต่างกันหรือไม่ จากผลการทดลอง พบว่า 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดและลดอัตราการเต้นของหัวใจได้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสาร AP3 สูงจะมีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดได้ดีกว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มี AP3ต่ำกว่า จากผลการทดลองนี้บ่งชี้เตือนได้ว่า ผู้บริโภคที่ได้รับฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญ AP3 สูง อาจทำให้เกิดอาการของความดันเลือดต่ำได้ จึงควรระมัดระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจรด้วย ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ Planta Medica ในปี 2550 โดย Yoopan et al.6

2.6 ฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง

สถาบันฯได้ทำการศึกษาฤทธิ์ในการต้านการเติบโตของเซลล์มะเร็งสมอง SK-N-SH ของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ได้แก่ AP1, AP3 และ AP4 ในหลอดทดลอง ซึ่งผลการทดลองพบว่า สารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิดนี้ มีฤทธิ์ในการต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งสมองได้ โดยมีฤทธิ์เรียงจากมากไปน้อย คือ AP1, AP3AP4 จากนั้นได้ทำการศึกษากลไกระดับโมเลกุลของสารทั้ง 3 ชนิดนี้ในการต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง พบว่า สารนี้ไปยับยั้งวงจรชีวิตของเซลล์ที่ระยะ G1/S phase และกระตุ้นให้เซลล์ตายด้วยขบวนการอะพรอพโธสีส (Apoptosis) ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในงานประชุม The 5th Princess Chulabhorn International Science Congress: Evolving Genetics and Its Global Impact ที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 16-20 สิงหาคม 2547 (Thiantanawat et al.)16

ส่วนการศึกษาความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของผงฟ้าทะลายโจรในหนูขาว 2 เพศ17 เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยให้ยาในขนาด 0.12, 1.2 และ 2.4 กรัมต่อน้ำหนักหนู 1 กิโลกรัม (เทียบเท่ากับ 1, 10 และ 20 เท่าของขนาดที่ใช้รักษาในคน – 6 กรัมต่อวัน) พบว่า หนูทุกกลุ่มมีการเจริญเติบโตปกติ ไม่พบความผิดปกติทางโลหิตวิทยาหรือชีวเคมีของเลือด รวมทั้งลักษณะภายนอกหรือน้ำหนักของอวัยวะภายใน จุลพยาธิสภาพของอวัยวะภายในบางอวัยวะ ผลการทดลองสรุปได้ว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในขนาดที่ใช้รักษาในคนนั้น มีความปลอดภัยสูง


การควบคุมคุณภาพสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและผลิตภัณฑ์

การออกฤทธิ์ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรขึ้นอยู่กับปริมาณของสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงได้ตามฤดูกาลที่เพาะปลูก แหล่งที่ปลูก และระยะเวลาเก็บเกี่ยว ตลอดจนระยะเวลาการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของความแปรปรวนของสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร ทำให้ฟ้าทะลายโจรที่นำมาใช้นั้น รักษาโรคได้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรนี้ สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ดีในทุกๆครั้งที่นำมาใช้ มีประสิทธิภาพในการรักษาสม่ำเสมอ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญแต่ละชนิดในวัตถุดิบที่จะนำมาใช้เตรียมผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทุกครั้ง

สถาบันฯได้ทำการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่จำหน่ายในท้องตลาดมาทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ 3 ชนิด พบว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรนี้มีความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดในผลิตภัณฑ์มาก (รูปที่ 3) แต่ทุกผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรจะมีสาร andrographolide (AP1) สูงที่สุด รองลงมา คือ 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) ในขณะที่มีสาร neoandrographolide (AP4) ต่ำที่สุด และใบก็จะมีสารสำคัญสูงกว่าในก้าน จากรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรบางตัวอย่าง จะมีปริมาณสาร AP3 สูงมาก เช่น ตัวอย่างที่ 01, 08, 13 และ 15 เป็นต้น ซึ่งเมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในการลดไข้ แก้เจ็บคอ ก็อาจจะมีผลข้างเคียง คือ มีความดันเลือดต่ำลง ทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนได้

รูปที่ 3 ความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญ 3 ชนิด ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีขายในท้องตลาด

นอกจากนี้ทางสถาบันฯยังได้ทำการศึกษาความคงตัวของสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดนี้ในผงสมุนไพรที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง13 พบว่า สาร andrographolide (AP1) ค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เก็บรักษา ในขณะที่สาร 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3) เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่เก็บรักษา และสาร neoandrographolide (AP4) เปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆ ซึ่งถ้าดูจากผลของการเปลี่ยนแปลงสารแลคโตนรวม จะพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของสารแลคโตนรวมน้อยมาก จึงไม่สามารถบอกได้ว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ใช้อยู่นี้ จะยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีสาร AP3สูงขึ้น ก็อาจจะรักษาโรคที่สาร AP3 มีฤทธิ์ที่ดีที่สุด เช่น ช่วยลดความดันเลือด เป็นต้น แต่ถ้าต้องการใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับลดไข้ แก้เจ็บคอเท่านั้น การนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตไว้นานแล้วมาใช้ ก็อาจทำให้ได้รับสาร AP3 สูงตามไปด้วย ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงเกี่ยวกับการลดลงของความดันเลือดที่ไม่พึงประสงค์ได้

จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรทั้ง 4 ชนิดนี้ มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แตกต่างกัน และยังมีการเปลี่ยนแปลงของสารระหว่างการเก็บรักษาเกิดขึ้นได้ด้วย ดังนั้นวิธีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสมุนไพรนี้ จึงจำเป็นจะต้องเป็นวิธีที่สามารถวิเคราะห์ปริมาณสารทั้ง 4 ชนิดได้ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีและมีความปลอดภัยสูง

ข้อบ่งใช้ในปัจจุบันและอนาคต

ปัจจุบันในบัญชียาจากสมุนไพร ปี 2549 ได้แบ่งยาจากสมุนไพรเป็น 2 ชนิด ได้แก่ บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้เดิม เช่น ยาหอมนวโกฐ ยาประสะมะแว้ง ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง เป็นต้น ส่วนชนิดที่ 2 คือ บัญชียาพัฒนาจากสมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นชัน ขิง ชุมเห็ดเทศ ฟ้าทะลายโจร บัวบก พริก ไพล เป็นต้น ในบัญชียาจากสมุนไพรนี้ได้ระบุข้อบ่งใช้ของฟ้าทะลายโจรว่า ใช้รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ รักษาอาการเจ็บคอ (pharyngotonsillitis) บรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล เป็นต้น

รูปแบบและความแรง แคปซูล /ยาเม็ด/ ยาลูกกลอน ที่บรรจุผงฟ้าทะลายโจรอบแห้ง 250, 300 และ 350 มก.

ขนาดและวิธีใช้:
(รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ) ครั้งละ 0.5-2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ใช้รักษาไม่เกิน 2 วัน, (รักษาอาการเจ็บคอ) วันละ 3 – 6 กรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ใช้รักษาไม่เกิน 7 วัน

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการนำสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมาใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีก เช่น การเลี้ยงไก่ เป็นต้น เนื่องจากการเลี้ยงไก่ส่วนใหญ่จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้มีการตกค้างของสารเหล่านี้ในเนื้อไก่ได้ และอาจจะทำให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ตลอดจนการส่งออกเนื้อไก่ของประเทศไทย ดังนั้นจึงได้มีการนำสมุนไพรมาใช้ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะเหล่านี้ โดยได้มีการนำฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสรรพคุณแก้เจ็บคอ ลดไข้ แก้ท้องเสีย ไปผสมร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ไพล ให้ไก่กิน เพื่อป้องกันและรักษาโรคในระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอัตราการสูญเสียจากไก่ป่วยและตายลดลง สาโรชและคณะ (2547)18 ได้รายงานว่า ไก่เนื้อที่เลี้ยงด้วยอาหารเสริมฟ้าทะลายโจรขนาด 0.05-0.1% ของอาหาร จนถึงอายุ 6 สัปดาห์ ไก่จะมีน้ำหนักตัวเทียบได้กับกลุ่มเสริมยาปฏิชีวนะ แต่จะมีประสิทธิภาพการใช้อาหารสูงกว่า และในไก่ไข่ ไก่ที่ได้รับฟ้าทะลายโจรผง 0.05-0.1% ของอาหาร ก็มีแนวโน้มผลิตไข่ดกกว่าและไข่มีคุณภาพภายในดีกว่ากลุ่มควบคุม จะเห็นได้ว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรให้ผลที่ดีในสัตว์เช่นเดียวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ จึงน่าที่จะนำมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะได้ เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมและปัญหาการตกค้างของยาในเนื้อสัตว์ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์ได้ เนื่องจากสมุนไพรที่ใช้มีความเป็นพิษต่ำ ราคาถูก และหาได้ง่ายเพราะสามารถปลูกได้เองในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามควรจะมีการศึกษาถึงสารสำคัญของฟ้าทะลายโจรที่อาจตกค้างในเนื้อสัตว์และอาจมีผลต่อผู้บริโภคได้ และยังต้องศึกษาถึงการยอมรับของผู้บริโภคในแง่ของกลิ่นและรสชาติของเนื้อสัตว์ที่อาจจะแตกต่างออกไปด้วย

บทสรุป

สมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสารสำคัญแต่ละชนิดที่มีอยู่ในสมุนไพร ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทั้งในรูปแบบของผงแห้งบรรจุแคปซูล ลูกกลอน ยาเม็ด รวมไปถึงการเตรียมให้อยู่ในรูปสารสกัดฟ้าทะลายโจร เนื่องจากมีความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์แตกต่างกันออกไป จึงทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีฤทธิ์ไม่เท่ากันเมื่อใช้ในขนาดของยาที่เท่ากัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิธีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรเหล่านี้อย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีการนี้จะต้องสามารถหารูปแบบของสารสำคัญที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้แน่นอนเพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับมาใช้อีก จะยังให้ฤทธิ์ในการรักษาในทุกๆครั้งเหมือนเช่นเดิม และไม่มีอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้สมุนไพรนี้

เอกสารอ้างอิง

Calabrese, C., Berman, S.H., Babish, J.G., Ma, X., Shinto, L., Dorr, M., Wells, K., Wenner, C.A., Standish, L.J. A phase I trial of andrographolide in HIV positive patients and normal volunteers. Phytother. Res. 2000, 14, 333-338.

  1. Cáceres, D.D., Hancke, J.L., Burgos, R.A., Sandberg, F., Wikman, G.K. Use of visual analogue scale measurements (VAS) to asses the effectiveness of standardized Andrographis paniculata extract SHA-10 in reducing the symptoms of common cold. A randomized double blind-placebo study. Phytomedicine. 1999, 6, 217-223.
  2. Zaidan, M.R., Noor, A., Badrul, A.R., Adlin, A., Norazah, A., Zakiah, I. In vitro screening of five local medicinal plants for antibacterial activity using disc diffusion method. Trop. Biomed. 2005, 22, 165-170.
  3. Puri, A., Saxena, R., Saxena, R.P., Saxena, K.C., Srivastava, V., Tandon, J.S. Immunostimulant agents from Andrographis paniculata. J. Nat. Prod. 1993, 56, 995–999.
  4. Zhang, C.Y., Tan, B.K.H. Hypotensive activity of aqueous extract of Andrographis paniculata in rats. Clin. Exp. Pharmacol. Physiol. 1996, 23, 675–678.
  5. Yoopan, N., Thisoda, P., Rangkadilok, N.,Sahasitiwat, S., Pholphana, N., Ruchirawat, S., Satayavivad, J. Cardiovascular effects of 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide and Andrographis paniculata extracts. Planta Med. 2007, 73, 503-511.
  6. Thisoda, P., Rangkadilok, N., Pholphana, N., Worasuttayangkurn, L., Ruchirawat, S., Satayavivad, J. Inhibitory effect of Andrographis paniculata extract and its active diterpenoids on platelet aggregation. Eur. J. Pharmacol. 2006. 553, 39-45.
  7. Kapil, A., Koul, I.B., Banerjee, S.K., Gupta, B.D. Antihepatotoxic effects of major diterpenoid constituents of Andrographis paniculata. Biochem. Pharmacol. 1993, 46, 182-185
  8. Thamlikitkul, V., Dechatiwongse, T., Theerapong, S., Chantrakul, C., Boonroj, P., Punkrut, W., Ekpalakorn, W., Boontaeng, N., Taechaiya, S., Petcharoen. S., et al. Efficacy of Andrographis paniculata. Nees for pharyngotonsillitis in adults. J. Med. Assoc. Thai. 1991, 74, 437-442.
  9. Sheeja, K., Shihab, P.K., Kuttan, G. Antioxidant and anti-inflammatory activities of the plant Andrographis paniculata Nees. Immunopharmacol. Immunotoxicol. 2006, 28, 129-140.
  10. Misra, P., Pal, N.L., Guru, P.Y., Katiyar, J.C., Srivastava, V., Tandon, J.S. Antimalarial activity of Andrographis paniculata (Kalmegh) against Plasmodium berghei NK 65 in Mastomys natatensis. Int. J. Pharmacog. 1992, 30, 263–274.
  11. Thai Herbal Pharmacopoeia. 1995. Vol. 1. Prachachon Co., Ltd., Bangkok. p. 24-31.
  12. Pholphana, N., Rangkadilok, N., Thongnest, S., Ruchirawat, S., Ruchirawat, M., Satayavivad, J. Determination and variation of three active diterpenoids in Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees. Phytochem. Anal. 2004, 15, 365-371.
  13. อนุสิทธิบัตร เลขที่ 1862 เรื่อง วิธีการเตรียมสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees, Acanthaceae และใช้สารสกัดดังกล่าวในการผลิตผลิตภัณฑ์ ออกให้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548
  14. Pholphana, N., Rangkadilok, N., Saehun, J., Ritruechai, S., Satayavivad, J. Changes in the contents of four active diterpenoids at different growth stages in Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees (Chuanxinlian). Chin. Med. 2013, 8(1), 2.
  15. Thiantanawat, A., Watcharasit, P., Ruchirawat, S., Satayavivad, J. Modulation of cell cycle and apoptosis signaling by the three active diterpenoids from Andrographis paniculata Nees. Proceedings of The 5th Princess Chulabhorn International Science Congress: Evolving Genetics and Its Global Impact, August 16-20, 2004, PC-09, Vol. II, p.57.
  16. นาถฤดี สิทธิสมวงศ์, เจษฎา เพ็งชะตา, ทรงพล ชีวพัฒน์ และคณะ. พิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้องรังของฟ้าทะลายโจร. ไทยเภสัชสาร. 2532, 14, 109-118.
  17. สาโรช ค้าเจริญ, บังอร ศรีพานิชกุลชัย, เยาวมาลย์ ค้าเจริญ, คมกริช พิมพ์ภักดี, พิชญ์รัตน์ แสนไชยสุริยา. การศึกษาและพัฒนาการผลิตและการใช้สมุนไพรกระเทียม ฟ้าทะลายโจร และขมิ้นชันทดแทนสารต้านจุลชีพและสารสังเคราะห์เติมอาหารไก่และสุกร. การประชุม เรื่อง สมุนไพรไทย โอกาสและทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ ครั้งที่ 2 วันที่ 15-16 มกราคม 2547. หน้า 145-161.


กิตติกรรมประกาศ

งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ คณะผู้วิจัยขอขอบคุณ ศ.ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ และคณะนักวิจัยของห้องปฏิบัติการเภสัชเคมี ที่เอื้อเฟื้อสารบริสุทธิ์ที่แยกจากฟ้าทะลายโจร สำหรับใช้เป็นสารมาตรฐานในการวิเคราะห์ และนักวิจัยของห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยาที่ร่วมงานทุกท่าน สำหรับตัวอย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่นำมาใช้ทดสอบในงานวิจัยของสถาบันฯ ได้มาจากหมู่บ้านทับทิมสยาม 05 (จังหวัดสระแก้ว) และบางส่วนได้รับความอนุเคราะห์จากคุณลิขิตและคุณวรรณี สูจิฆระ (สวนสมุนไพร จังหวัดราชบุรี) ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ที่มา https://eht.sc.mahidol.ac.th/article/1818

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด