ผลกระทบของสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพของมนุษย์
ผลกระทบของสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพของมนุษย์
การได้สัมผัสรับสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น สารกำจัดศัตรูพืช (pesticide) และ สารแปลกปลอม (xenobiotics) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อพัฒนาการของโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง และกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท (neurodegenerative disorders) ประเทศไทยมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าสารรุ่นใหม่ๆ จะได้รับการรับรองว่ามีความปลอดภัยมากขึ้น แต่เกษตรกรและบุคคลทั่วไปส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการอบรมการใช้งานอย่างเหมาะสม ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีได้ใช้เทคนิคโปรตีโอมิกส์ (proteomics) เพื่อทำความเข้าใจถึงกลไกการออกฤทธิ์ของสารกำจัดศัตรูพืชและผลกระทบต่อสุขภาพโดยใช้เซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงเป็นแบบจำลอง ตัวอย่างเช่น การได้รับสาร atrazine ความเข้มข้นสูงมีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ยาฆ่าแมลงฟิโพรนิล (fipronil) ก็มีผลกระทบต่อเซลล์ประสาทโดยไปเปลี่ยนแปลงปริมาณโปรตีนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสังเคราะห์โปรตีน การทำงานของไมโตคอนเดรีย และเมตาบอลิสมของน้ำตาลกลูโคส การศึกษาโปรตีโอมิกส์ในพืชที่ได้รับสารกำจัดศัตรูพืชก็เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจเนื่องจากมีความสำคัญต่อภาคเกษตร งานวิจัยของเราพบว่า ยาฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ส่งผลกระทบต่อโปรตีนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการสังเคราะห์แสงในใบของคะน้า นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมียังมีความสนใจศึกษาผลกระทบในระดับเซลล์และโมเลกุลของสารแปลกปลอมที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เช่น สารประกอบเพอร์ฟลูออริเนท ที่มีต่อการดำเนินโรคของมะเร็งอีกด้วย