“กล้วยไม้หวาย” ต้านทานไวรัส
กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย อย่างไร?
คนไทยจำนวนมากอาจไม่ทราบว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเป็นอันดับหนึ่งของโลก น่าภาคภูมิใจเป็นที่สุด มูลค่าของกล้วยไม้ไทยในการค้ากล้วยไม้ของโลกปี 2550 สูงกว่า 5,337 ล้านบาท
ปัญหาเรื่องโรคของกล้วยไม้ไทย คืออะไร?
ศัตรูของกล้วยไม้ไทยคือโรคที่เรียกว่า ไวรัสยอดบิด Cymbidium mosaic virus (CyMV) เจ้าไวรัสตัวนี้อาละวาดทำลาย และแถมแพร่ระบาดไปพิฆาตกล้วยไม้หลายๆ ชนิดที่เราปลูกเป็นการค้า เพื่อตัดดอกส่งไปขายต่างประเทศ ยิ่งในช่วงที่กล้วยไม้กำลังอ่อนแอ อาการของโรคก็จะรุนแรง ความพยายามที่จะควบคุมโรคไม่ให้แพร่ไปสู่ต้นอื่นๆ ทำได้ยาก เนื่องจากเชื้อไวรัส CyMV หรือเจ้าไวรัสยอดบิดตัวนี้ อาศัยอยู่ในทุกส่วนของเนื้อเยื่อของกล้วยไม้ รวมทั้งบริเวณปลายยอดสุดที่เซลล์กำลังแบ่งตัวเพื่อการเจริญเติบโต แม้แต่กล้วยไม้ที่เราได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
วิธีรักษาโรคไวรัสคืออย่างไร? ได้ผลแค่ไหน?
วิธีปัจจุบันที่เราทำกันคือ ควบคุมโดยการทำลายต้นที่เป็นโรค และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมล็ดเท่านั้น ซึ่งมีผลเสียคือ ลักษณะทางพันธุกรรมของกล้วยไม้จะแปรปรวนได้
นวัตกรรมหรือผลงานประดิษฐ์ใด สามารถแก้ปัญหาโรคไวรัสยอดบิดได้?
นักประดิษฐ์ไทยโดย ดร. พัฒนา ศรีฟ้า ฮุนเนอร์ และทีมงาน ซึ่งเป็นนิสิตปริญญาตรี โทและเอก ของภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยความสนับสนุนของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ประสบความสำเร็จในการสร้างพันธุ์กล้วยไม้หวายโซเนียเอียสกุลให้สามารถต้านทานไวรัสยอดบิดได้ด้วยเทคนิคสมัยใหม่ เรียกว่า เทคโนโลยีชีวภาพ
ผลงานวิจัย : กล้วยไม้หวายต้านทานไวรัสยอดบิด
ความสำเร็จของงานวิจัยนี้คือ สามารถดัดแปลงพันธุกรรม และสร้างให้พันธุ์กล้วยไม้หวายสกุลโซเนียเอียที่มีลักษณะที่ดี ให้สามารถต้านทานไวรัสยอดบิด CyMV ได้ โดยกรรมวิธีถ่ายยีนเฉพาะโปรตีนหุ้มไวรัสยอดบิดเข้าไปในกล้วยไม้ที่กำลังเป็นโรค เพื่อยับยั้งไวรัสทุกส่วนของต้น และสร้างภูมิคุ้มกันโรคไวรัสให้กับกล้วยไม้ เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนให้พืช การผลิตกล้วยไม้ต้านทานไวรัสที่คิดค้นได้เช่นนี้ เป็นประโยชน์ต่อกล้วยไม้สายพันธุ์อื่นๆ ที่อ่อนแอหรือถูกทำลายเพราะโรคไวรัสด้วย
ประโยชน์ของผลงานนวัตกรรมนี้ คืออะไร?
เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงนี้ สามารถนำไปปรับใช้ในการผลิตกล้วยไม้ชนิดอื่นที่ต้องผจญกับการอาละวาดแพร่ระบาดของโรคไวรัสยอดบิด โดยเฉพาะในกล้วยไม้สายพันธุ์ออนซิเดียม มอคารา และแคทลียา เป็นต้น
ผลดีของการควบคุมโรคไวรัส ช่วยให้เราสามารถเพิ่มผลผลิตได้ โดยเฉพาะกล้วยไม้ที่มีอายุมากกว่า 3 ปี และยังเป็นผลดีต่อการส่งต้นกล้วยไม้ไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะกล้วยไม้ปลอดโรคที่ผลิตได้ยังคงลักษณะที่ดีของสายพันธุ์เดิมไว้ หากเกิดความร่วมมือกับเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ และบริษัทผู้ผลิตกล้วยไม้ ในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อผลิตกล้วยไม้ชนิดอื่นให้ปลอดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีราคาแพง ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการผลิตเพื่อการค้าในอนาคต
ที่มา :
- โครงการวิจัย: การถ่ายยีนสร้างโปรตีนหุ้มอนุภาคไวรัสใบด่างเข้ากล้วยไม้สกุลหวายเพื่อสร้างความต้านทานโรค. ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- โครงการวิจัย: การใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ไทย. ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิจัย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์