มารู้จัก “งา” กันอีกสักหน่อย

04 พ.ค. 2553
1


เรามารู้จักสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และงานค้นคว้าเรื่องงากันก่อน

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ดำเนินงานด้านการวิจัย โดยมีห้องปฏิบัติการต่างๆ สำหรับงานวิจัยพื้นฐานที่เน้นด้านเคมี ด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ และด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ผลงานวิจัย มีทั้งสร้างองค์ความรู้ใหม่และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เนื่องจากประเทศเรา มีภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแพทย์แผนไทย และมีพืชพันธุ์หลากหลาย ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นยาได้ อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ของจุลชีพในดิน และสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ล้วนเอื้อต่อการศึกษาวิจัยด้านเคมีและชีววิทยา นำไปพัฒนาเพื่อใช้รักษาและป้องกันโรค อาทิเช่น โรคมะเร็งได้

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ร่วมวิจัยการปรับปรุงพันธุ์งา ในปี 2550 ได้งาดำพันธุ์ใหม่ที่ฝักไม่แตก สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ขอพระราชทานชื่อจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ งาดำพันธุ์ใหม่นี้จึงได้ชื่อว่า CM-07 ซึ่งให้ผลผลิตได้ถึง 360 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยของงาทั่วโลก (75.8 กิโลกรัมต่อไร่) และในปีนี้ได้พัฒนางาขาวพันธุ์ใหม่ที่ฝักไม่แตกซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า CM-53 ได้ผลิตต่อไร่ 317 กิโลกรัม

งา ของดี มีประโยชน์

งาเป็นพืชอาหารที่มีคุณภาพดีหลายอย่าง เมล็ดงาประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต น้ำมัน สารใยอาหาร ธาตุอาหารและวิตามินต่างๆ เช่น แคลเซียม วิตามินบี 1 และ บี 2 เป็นต้น ในน้ำมันงาซึ่งเป็นน้ำมันคุณภาพดี มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย คือ สารเซซามิน (Sesamin) และสารเซซาโมลิน (Sesamolin) และวิตามินอี

ประเทศที่ผลิตงามาก ได้แก่ จีน อินเดีย ซูดาน พม่า และอูกันดา ส่วนประเทศนำเข้าเมล็ดงาที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ตุรกี สหรัฐอเมริกา และซีเรีย มีแนวโน้มว่า ความต้องการของประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นด้วย

การบริโภคเมล็ดงาโดยตรงคือ บริโภคผลิตภัณฑ์งาชนิดต่างๆ เช่น เมล็ดงาคั่ว งาบด เนยงา ขนมงาตัด หรือใช้ตกแต่งขนมปังและขนมต่างๆ แต่การบริโภคโดยตรงยังมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันงาและกลิ่นน้ำมันงาในการประกอบอาหาร โดยเฉพาะอาหารของชาวตะวันออก เช่น อาหารจีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย เพราะเป็นที่ทราบกันว่างาและน้ำมันงามีประโยชน์ต่อสุขภาพ และป้องกันโรคได้

งาและน้ำมันงาในท้องตลาดมีคุณภาพแตกต่างกันไป โดยเฉพาะน้ำมันงาซึ่งเป็นสินค้าราคาสูง เพราะเมล็ดงาที่นำมาสกัดน้ำมันงามีคุณภาพต่างๆ กัน และกรรมวิธีในการสกัดน้ำมันแตกต่างกัน ผลิตภัณฑ์งาและน้ำมันงาที่ดีต้องประกอบด้วย ปริมาณน้ำมัน ปริมาณโปรตีน กรดไขมัน กรดอะมิโน สารลิกแนน (Lignans เช่น สารเซซามิน สารเซซาโมลิน เป็นต้น) วิตามินอี กลิ่นและรสชาติ

นวัตกรรมของงา

จากผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เราสามารถพัฒนาวิธีการสกัดและวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ คือสารเซซามิน สารเซซาโมลิน และสารอื่นๆ ในเมล็ดงาและน้ำมันงาที่มีในประเทศ โดยใช้ตัวอย่างเมล็ดงาพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดต่างๆ (พันธุ์เมล็ดสีดำ สีขาว สีดำแดง และสีน้ำตาล) และตัวอย่างเมล็ดงาดำ งาขาวจากต่างประเทศด้วย ส่วนน้ำมันงา ได้ตัวอย่างจากที่มีจำหน่ายในท้องตลาดและมีแหล่งผลิตแตกต่างกัน จากการวิเคราะห์พบว่าปริมาณสารมีคุณประโยชน์ต้านอนุมูลอิสระในเมล็ดงาและน้ำมันงาจะแตกต่างกันมาก ขึ้นกับสายพันธุ์งา การปลูกและแหล่งปลูก และกรรมวิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

สำหรับงานวิจัยสารสำคัญที่มีอยู่ในงา นอกจากฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังมีฤทธิ์อื่นๆ ซึ่งนักวิจัยของสถาบันฯ กำลังดำเนินการวิจัยเช่นกัน เช่น ฤทธิ์ในการลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
งานวิจัยที่ต้องทำต่อเนื่องไปคือ การพัฒนาสายพันธุ์งาใหม่ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ให้ผลผลิตสูงและมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้แนะนำพันธุ์งาปรับปรุงหรือพันธุ์คัดเลือกต่างๆ แจกจ่ายให้เกษตรกร ให้ความรู้เรื่องงาและการปลูกงา สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกงา วิธีการปลูกงา ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต ซึ่งประโยชน์จะได้เป็นของเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ในด้านผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งตระหนักถึงคุณค่าทางโภชนาการของงาที่นับวันจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการใช้เป็นอาหารสุขภาพ ควรต้องเพิ่มความพิถีพิถันในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์งาและน้ำมันงากันสักหน่อย เพราะผลิตภัณฑ์บางอย่างมีเพียงกลิ่นงาเท่านั้น ต้องเลือกผู้ผลิตที่คิดว่าน่าจะวางใจได้ เนื่องจากคุณภาพจะแตกต่างกันมาก ในด้านคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและการป้องกันโรค

ที่มา :

  1. โครงการ “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์งา” ของห้องปฏิบัติการ เภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับภาควิชาพืชไร่
    คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  2. บทความเรื่อง “ความผันแปรของปริมาณสารเซซามิน สารเซซา โมลิน และวิตามินอี ในเมล็ดงาและผลิตภัณฑ์งาในประเทศไทย
    วารสาร Food Chemistry. 2010, 122: 724–730.
  3. วาสนา วงษ์ใหญ่. 2552. เทคโนโลยีการปลูกงาด้วยเครื่องปลูกแบบโรยเมล็ดเป็นแถว.
  4. Ray Hansen. “World Production of Sesame” in Sesame Profile. Available at http://www.agmrc.org/commodities__products/
    grains__oilseeds/sesame_profile.cfm (accessed on 27 April 2010)

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด