PM2.5: วิกฤตฝุ่นละอองในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ และคณะนักวิจัย
ห้องปฏิบัติการวิจัยพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย

 

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมของทุกปี จากข้อมูลคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ พบว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในอากาศของกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ในปี 2567 ระดับฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนตั้งแต่เดือนมกราคม (22.7-66.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และมีผลกระทบต่อสุขภาพในเดือนกุมภาพันธ์ (35.5-87.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ขณะที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในอากาศของภาคเหนือจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ระดับฝุ่น PM2.5 ในอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในเดือนกุมภาพันธ์ (18.6-92.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และมีผลกระทบต่อสุขภาพในเดือนมีนาคม (47.4-158.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

PM2.5 คืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไร

          PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ มาจากการเผาไหม้ชีวมวลทางเกษตรกรรมและไฟป่ารวมถึงหมอกควันข้ามพรมแดน ขณะที่แหล่งกำเนิด PM2.5 ในอากาศของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มาจากการจราจรทางบกและการขนส่งอื่นๆ อุตสาหกรรม ครัวเรือน และการเผาในที่โล่ง นอกจากนี้สภาพอากาศสงบนิ่งไม่กระจายตัว ส่งผลต่อการสะสม PM2.5 ในอากาศมากขึ้น

ฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดฝนกรดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพพบว่าการได้รับฝุ่น PM2.5 ในระยะสั้นอาจทำให้ตาและคอระคายเคือง ไอ และหายใจลำบาก ผื่นคัน ขณะที่การได้รับฝุ่น PM2.5 ในระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และมะเร็งปอดได้

แนวทางการทำวิจัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับมลพิษอากาศและฝุ่น PM2.5 ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งของการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับมลพิษอากาศรวมถึงฝุ่นละออง PM2.5 จึงได้ทำการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพ (Biomarkers) หลายชนิดได้แก่ตัวชี้วัดการรับสัมผัส (Biomarker of exposure) และตัวชี้วัดของการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในระยะเริ่มต้น (Biomarker of early biological effects) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ

กลไกการเกิดโรคจากการได้รับมลพิษอากาศ ฝุ่น PM2.5 และฝุ่นขนาดต่าง ๆ

ฝุ่น PM2.5 และฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า PM2.5 สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ ฝุ่นละอองเหล่านี้ยังเป็นพาหะนำสารอื่นเข้าสู่ร่างกาย เช่น โลหะหนักอันตราย (แคดเมียม ปรอท สารหนู ตะกั่ว) โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนหรือ พีเอเอช และสารก่อมะเร็งต่างๆ ซึ่งสารเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรม และกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น ภูมิแพ้ ไซนัส ติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนล่าง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดในสมอง โรคผิวหนัง และมะเร็ง เป็นต้น

งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับฝุ่น PM2.5 และฝุ่นขนาดต่าง ๆ

ในปีพ.ศ. 2557 สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติที่ศึกษาวิจัยปริมาณและสารพิษอันตรายในฝุ่นละออง PM2.5 ตลอดจนผลกระทบของการได้รับ PM2.5 ในกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นของกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มีความร่วมมือทางวิชาการกับ University of Bristol สหราชอาณาจักร ทำการศึกษาวิจัยการวิเคราะห์การกระจายตัวของฝุ่นขนาดต่าง ๆ ในอากาศของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการได้รับฝุ่นขนาดต่าง ๆ เหล่านี้ และผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ “Environmental Science and Pollution Research” ในปีพ.ศ. 2565

ในปีพ.ศ. 2560 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา (อสพ) โดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการ “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของประเทศไทย (Air Quality Assessment for Health and Environment Policies in Thailand)” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Environment Program: UNEP) เพื่อประเมินสถานการณ์และข้อมูลทางวิชาการประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการจัดการคุณภาพอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยจากการได้รับ PM2.5 PM10 และโอโซน ในประชากรในพื้นที่จังหวัดสงขลา สระบุรี และ เชียงใหม่

รายงานฉบับสมบูรณ์งานวิจัยนี้ ได้ทำการเผยแพร่ต่อสาธารณะซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.pcd.go.th

ขณะนี้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ขยายผลการศึกษาวิจัยด้านมลพิษอากาศฝุ่นละอองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า PM2.5 เนื่องจากอันตรายของการได้รับฝุ่นละอองในอากาศขึ้นกับ ขนาด และสารพิษต่าง ๆ ที่อยู่ในฝุ่น ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นมี สารก่อมะเร็ง Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) และโลหะหนักอันตรายกระจายตัวอยู่ในฝุ่นละอองขนาด Submicron (≤1 µm) และ Ultrafine (≤0.1 µm) มากกว่าในฝุ่น PM2.5 ซึ่งฝุ่น Ultrafine สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ถุงลมปอดและระบบไหลเวียนโลหิตได้ ทำให้เป็นอันตรายต่อระบบหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดและสมองได้

ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 นอกจากนี้การศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของฝุ่นละอองขนาดเล็กและมลพิษอากาศอื่นๆ ยังมีความจำเป็นในทุกมิติ เนื่องจากข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในร่างกายที่จะส่งผลต่อการพัฒนาการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ในระยะยาว ซึ่งการเจ็บป่วยมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจะเป็นประโยชน์นำไปสู่นโยบายในการเฝ้าระวังตลอดจนแนวทางในการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 และฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า PM2.5 ในอนาคต ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง

Air4Thai. 2024. สถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ภาคเหนือ [Online]. Retrieved 8 March 2024. Available from http://air4thai.pcd.go.th/webV3/#/Report.

Matthews JC, Navasumrit P, Wright MD, Chaisatra K, Chompoobut C, Arbon R, Khan MAH, Ruchirawat M, Shallcross DE. Aerosol mass and size-resolved metal content in urban Bangkok, Thailand. Environ Sci Pollut Res Int. 2022, 29(52):79025-79040.

Report “Air Quality Assessments for Health and Environment Policies in Thailand” (www.pcd.go.th; downloaded on 10-3-2023).

Vattanasit U, Navasumrit P, Khadka MB, Kanitwithayanun J, Promvijit J, Autrup H, Ruchirawat M. Oxidative DNA damage and inflammatory responses in cultured human cells and in humans exposed to traffic-related particles. Int J Hyg Environ Health. 2014, 217(1):23-33.

ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ 2567. รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 วันที่ 15 มกราคม 2567 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 และวันที่ 8 มีนาคม 2567 [Online]. Retrieved 12 March 2024. Available from https://www.facebook.com/airpollution.CAPM/?locale=th_TH

สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร. 2567. ผลการตรวจวัด PM2.5 วันที่ 15 ก.พ. 2567 [Online]. Retrieved 29 February 2024. Available from https://pr-bangkok.com/?p=272073.

 

 

 

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด