งานวิจัยพัฒนายาเคมีโมเลกุลเล็กและนวัตกรรมโพลิเมอร์ เพื่อความมั่นคงทางยาและการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ของประเทศ

22 พ.ย. 2567
0

ตอนที่ 3 : งานวิจัยด้านการพัฒนากระบวนการใหม่ด้านอินทรีย์เคมีสังเคราะห์และการนำไปใช้ในการสังเคราะห์สาร

                       ที่มีคุณสมบัติทางยา (Part 4)

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์
รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณา เตชะสกุล
ห้องปฏิบัติการวิจัยด้านเคมี

 

          กรณีศึกษาที่ 3 : ลาเมลลาริน เอซาลาเมลลารินและอนุพันธ์

 

คณะผู้วิจัยมีความสนใจสารในกลุ่มลาเมลลารินซึ่งเป็นสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากสิ่งมีชีวิตในทะเลเนื่องจากมีรายงานฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลายทั้งการฆ่าเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการดื้อยาของเซลล์มะเร็ง และต้าน
เอนไซม์เอชไอวี-1 อินทิเกรส ซึ่งเป็นเอนไซม์
เป้าหมายสำคัญในการบำบัดรักษาโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างไรก็ตามเนื่องจากสามารถสกัดสารจากแหล่งธรรมชาติได้เพียงเล็กน้อย การศึกษากลไกการออกฤทธิ์ต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาอนุพันธ์ใหม่ ๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพากระบวนการสังเคราะห์สาร
เป็นหลัก ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและการขยายขนาดการผลิตให้ได้ปริมาณมากพอเพื่อรองรับการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติทางยา เช่นการละลายน้ำ การดูดซึมภายใต้สภาวะต่าง ๆ ความคงตัวของสารที่มีต่อเอนไซม์ที่เกี่ยวกับกระบวนการเมตาบอลิสม รวมทั้งศึกษากลไกการออกฤทธิ์ที่สารมีต่อสารชีวโมเลกุลเป้าหมายโดยได้นำเคมีคำนวณมาใช้สร้างแบบจำลองเพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ที่หมู่ฟังก์ชันสำคัญบนโครงสร้างของสารมีต่อสารชีวโมเลกุลเป้าหมาย เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาช่วยในการออกแบบอนุพันธ์ใหม่ ๆ ที่มีคุณสมบัติดีขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสารลาเมลลารินและอนุพันธ์เอซาลาเมลลารินที่ทางคณะผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นนั้นสามารถยับยั้งหรือฆ่าเซลล์มะเร็งโดยการรบกวนกระบวนการทางชีวเคมีที่สำคัญโดยสามารถจับตัวกับโปรตีนหลายชนิดรวมทั้งออร์แกเนลล์ที่เกี่ยวกับสมดุลพลังงานภายในเซลล์ เช่น ไมโตคอนเดรีย นอกจากนี้สารในกลุ่มนี้ยังเหนี่ยวนำให้เกิดสภาวะการตายของเซลล์มะเร็งบางชนิดอย่างเป็นระบบ (apoptosis) ได้อีกด้วย

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด