งานวิจัยพัฒนายาเคมีโมเลกุลเล็กและนวัตกรรมโพลิเมอร์ เพื่อความมั่นคงทางยาและการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ของประเทศ
ตอนที่ 3 : งานวิจัยด้านการพัฒนากระบวนการใหม่ด้านอินทรีย์เคมีสังเคราะห์และการนำไปใช้ในการสังเคราะห์สาร
ที่มีคุณสมบัติทางยา (Part 5)
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์
รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณา เตชะสกุล
ห้องปฏิบัติการวิจัยด้านเคมี
กรณีศึกษาที่ 4 : กลุ่มของสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีน เอสเทอเรส
เนื่องจากการยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีน เอสเทอเรส เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยบรรเทาหรือชะลออาการในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาถึงลักษณะของโครงสร้างสารจากหลากหลายกลุ่มที่มีศักยภาพในการจับและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลีน เอสเทอเรส โดยได้พิจารณาทั้งกลุ่มสารที่พัฒนามาจากสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น ฮูเปอซีน เอ จากพืชคล้ายเฟิร์น วงศ์คลับมอส และกลุ่มสารที่มาจากการออกแบบด้วยวิธีทางเคมีคอมพิวเตอร์ โดยจำลองการจับกันระหว่างสารกับเอนไซม์ จากนั้นทำการสังเคราะห์และทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสาร เพื่อให้ได้สารที่มีความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีน เอสเทอเรสแบบจำเพาะ โดยไม่ยับยั้งเอนไซม์บิวทิริลโคลีน เอสเทอเรส ซึ่งทำหน้าที่สำคัญอื่น ๆ ในอวัยวะภายในร่างกาย นอกจากนี้ยังได้ศึกษาประเภทของการยับยั้งรวมทั้งการใช้เคมีคำนวณเพื่อทำนายคุณสมบัติทางยา เช่น คุณสมบัติการข้ามผ่านตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากสมองเป็นอวัยวะเป้าหมายการออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีน เอสเทอเรส เพื่อให้ได้ผลการบำบัดรักษาที่ดี ซึ่งจากการศึกษาทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาโครงสร้างสารให้มีประสิทธิภาพในการยับยั้งและมีศักยภาพที่สูงขึ้นในการพัฒนาเป็นยา