ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมี
ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมี
โปรตีนคือตัวแทนที่แสดงถึงศักยภาพทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตและสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้มากมาย เช่น การเร่งปฏิกิริยาด้วยเอนไซม์ ทำหน้าที่เป็นขอบข่ายโครงสร้างในร่างกาย และการขนส่งสารระหว่างอวัยวะต่างๆ เนื่องจากโปรตีนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของร่างกาย ความผิดปกติในลำดับกรดอะมิโน การดัดแปลงทางเคมี หรือการแสดงออกในเนื้อเยื่อ จึงสามารถก่อให้เกิดโรคได้ การกลายพันธุ์ (mutation) คือการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในระดับ DNA ส่งผลให้โปรตีนที่สร้างขึ้นมาในเซลล์มีโครงสร้างและการทำหน้าที่เปลี่ยนไปจากปกติ นำไปสู่การเกิดโรคพันธุกรรมและโรคมะเร็งซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ยาก และเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทย
ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีมีความสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์มาเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคทางพันธุกรรมและโรคมะเร็ง โดยมีผลงานวิจัยที่ทำให้ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และรางวัลนักวิจัยดีเด่นสาขาเคมีและเภสัชจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
งานวิจัยที่ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีให้ความสนใจได้แก่ การศึกษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโปรตีน ทั้งการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของโปรตีน
หัวข้องานวิจัยหลักของห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมี ได้แก่
1. ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคมะเร็ง (Cancer biomarkers)
2. สารต้านมะเร็งและสภาวะแวดล้อมของเซลล์มะเร็ง (Anti-cancer agents and tumor microenvironment)
3. โรคพันธุกรรม (Genetic diseases)
4. ผลกระทบของสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพของมนุษย์ (Action of environmental contaminants on human health)
ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นจำนวนมากในวารสารระดับนานาชาติ และนักวิจัยของห้องปฏิบัติการฯ เคยได้รับรางวัลหลายรางวัล เช่น รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งประเทศไทย