ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา
ปัจจุบันการบริหารจัดการสารเคมีต่างๆ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช ยาปฏิชีวนะ โลหะหนัก มีการดำเนินการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและสะสมในห่วงโซ่อาหาร ทำให้มนุษย์และสัตว์มีความเสี่ยงที่จะได้รับและสัมผัสสารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหารดังกล่าว ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยาจึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยในตัวอย่างอาหารหลากหลายชนิด อันได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้ น้ำดื่ม เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารจากทะเล และผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อวิเคราะห์ปริมาณสารเคมีที่ตกค้างด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ที่มีความไวและแม่นยำสูง โดยใช้วิธีวิเคราะห์ที่ได้ทำการพัฒนาและทดสอบความถูกต้องแล้ว ตัวอย่างเช่นการวิเคราะห์หาปริมาณสารหนูรวมในข้าว ซึ่งห้องปฏิบัติการฯ ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวจากแหล่งต่างๆ มาเป็นระยะเวลานาน เพื่อรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยของข้าวไทย นอกจากนี้ยังได้พัฒนาวิธีวิเคราะห์เพื่อจำแนกชนิดของสารหนูในข้าวเพิ่มเติม เนื่องจากสารหนูแต่ละชนิดก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกายที่แตกต่างกัน ซึ่งการรวบรวมข้อมูลการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหาร น้ำดื่ม และในสิ่งแวดล้อม ดังกล่าวนี้ จะสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วน สามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดทำมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหารและสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่อไปได้
นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการฯ ยังได้ดำเนินการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพ จากการได้รับและสัมผัสสารเคมีที่ปนเปื้อน อันได้แก่ การศึกษาผลกระทบของการได้รับและสัมผัสโลหะหนัก รวมทั้งสารกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและกระบวนการอักเสบ อีกทั้งยังดำเนินการศึกษาผลของโลหะหนักต่อการเกิดความเสียหายของสารพันธุกรรม และการก่อการกลายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเครียดออกซิเดชั่น โดยได้ทำการศึกษาในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ได้ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรมให้มีความไวต่อสภาวะเครียดออกซิเดชั่นที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ โดยเซลล์ที่ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรมนี้สามารถใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาผลกระทบของสารเคมี ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายของสารพันธุกรรมและการก่อกลายพันธุ์ ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเครียดออกซิเดชั่นได้อีกด้วย
ในด้านการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยา ห้องปฏิบัติการฯ ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดการได้รับและสัมผัสสารเคมีและมีการสะสมในร่างกายมนุษย์ ตัวอย่างเช่นการตรวจวัดระดับสารเคมีที่ได้รับสัมผัสจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมซึ่งสะสมอยู่ในกระแสเลือด อันได้แก่ สารกลุ่มเพอร์ฟลูออโรอัลคิล โดยทำการศึกษาในกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น โรงงานชุบเคลือบโลหะ ร่วมกับการตรวจวิเคราะห์ระดับการปนเปื้อนของสารเคมีดังกล่าวในอาหาร น้ำดื่ม และในสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ที่ทำการศึกษาวิจัยอีกด้วย เนื่องด้วยสารเคมีในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติที่กันการซึมผ่านของน้ำได้ดีมาก จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษสำหรับห่ออาหาร วัสดุเคมีดับเพลิง และเสื้อผ้ากันน้ำ เป็นต้น
ปัจจุบันปัญหาเชื้อจุลชีพดื้อยาเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดเชื้อจุลชีพดื้อยานี้ อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ โลหะหนัก และสารกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เชื้อจุลชีพในสิ่งแวดล้อมได้รับสัมผัสสารเคมีเหล่านี้ ส่งผลให้เชื้อจุลชีพเกิดการพัฒนาให้สามารถทนต่อยาปฏิชีวนะเหล่านี้ได้ดีขึ้น ห้องปฏิบัติการฯ จึงมีโครงการวิจัยที่เป็นความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และหน่วยงานวิจัยนานาชาติในการศึกษาวิจัยผลกระทบของสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ต่อการพัฒนาของเชื้อจุลชีพดื้อยา เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการต่อยอดวิจัยและพัฒนาปรับปรุงยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาโรคในมนุษย์ต่อไปได้