ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา
การใช้ยาสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้ว กรรมวิธีการเตรียมตำรับยาสมุนไพรส่วนใหญ่ค่อนข้างซับซ้อนและมีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิดในตำรับ ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้มีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการรักษาที่แตกต่างกัน การพัฒนาวิธีการสกัด การพิสูจน์โครงสร้าง และการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญหลักที่มีฤทธิ์ในการรักษาได้ถูกนำมาใช้ในการควบคุมคุณภาพของสมุนไพร เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยาสมุนไพร ในงานวิจัยและพัฒนาด้านพฤกษเภสัชภัณฑ์ของห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา เริ่มต้นจากการพัฒนาสารสกัดมาตรฐานที่มีปริมาณสารสำคัญหลักที่มีฤทธิ์ในทางยาที่แน่นอน เพื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ เช่น ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด (รักษาโรคเบาหวาน) ป้องกันโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท (เช่น โรคสมองเสื่อม เป็นต้น) ทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง รวมทั้งทำการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดสมุนไพรอีกด้วย
ปัจจุบันพืชสมุนไพรที่ห้องปฏิบัติการฯดำเนินการศึกษาวิจัยอยู่ ได้แก่ Andrographis paniculata (ฟ้าทะลายโจร), Cinnamomum verum (อบเชย), Zingiber officinale (ขิง), Dimocarpus longan (ลำไย), Mangifera indica (มะม่วง) และ Gynostemma pentaphyllum (เจียวกู่หลาน) ซึ่งสารสกัดจากสมุนไพรเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เป็น Active Pharmaceutical Ingredient (API) หรือสารออกฤทธิ์หลักในผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ เช่น ยาแคปซูล ยากึ่งแข็ง (ครีม) เวชสำอาง/เครื่องสำอาง หรืออาหารเสริม เป็นต้น
นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยายังมีงานวิจัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งด้านพรีคลินิกและคลินิกอยู่หลายโครงการ ตัวอย่างเช่น การศึกษาวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1 ในการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของสารสำคัญ diterpenoids หลัก 4 ชนิด ในสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในอาสาสมัครคนไทยสุขภาพดี โดยการรับประทานในปริมาณสูงที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 แบบให้ครั้งเดียวหรือหลายๆครั้งต่อเนื่องกันนาน 7 วัน นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยทางคลินิกเพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพร คือ ยาแคปซูลสารสกัดฟ้าทะลายโจร และชาชงพร้อมดื่มสารสกัดปัญจขันธ์ในผู้ป่วยภาวะก่อนเบาหวาน (pre-diabetes) และการศึกษาประสิทธิภาพของครีมสารสกัดลำไยในการบรรเทาอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับข้อเข่าเสื่อม ซึ่งข้อมูลทางคลินิกที่ได้นี้จะช่วยสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ยาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรในโรงพยาบาลมากขึ้น
การศึกษาวิจัยด้านพฤกษเภสัชภัณฑ์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ
ต้นน้ำ
- การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agricultural Practice) การคัดเลือกแหล่งปลูกวัตถุดิบที่เหมาะสม
- การพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์สารสำคัญ เพื่อใช้ในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ (การบ่งชี้สารสำคัญและรูปแบบสารสำคัญในสมุนไพร)
กลางน้ำ
- การเตรียมสารสกัดมาตรฐานที่มีสารสำคัญสูงและแน่นอน
- การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยา รวมทั้งกลไกการออกฤทธิ์ของสมุนไพรและสารสำคัญ (ทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง)
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการศึกษาความคงตัว (ต้นแบบผลิตภัณฑ์ระดับห้องปฏิบัติการ)
ปลายน้ำ
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจ เพื่อทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรม
- การศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในทางคลินิก