ผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับสารหนูในครรภ์

    สารหนูได้รับการจัดให้เป็นสารก่อมะเร็ง โดยสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer:IARC) พบมีอยู่ตามธรรมชาติและมีการนำมาใช้เป็นยารักษาสัตว์ เช่น ในหมูและไก่ เป็นต้น ตลอดจนใช้เป็นยาปราบศัตรูพืช สำหรับสารหนูที่พบปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย มาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งทำให้เกิดการปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม

    เนื่องจากแม่และเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพอนามัยของสารเคมี และเด็กซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ หากเด็กมีปัญหาด้านสุขภาพก็จะทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบเมื่อมารดาได้รับสารหนูในขณะตั้งครรภ์ต่อการเปลี่ยนแปลงในการแสดงออกของหน่วยพันธุกรรมในทารก โดยทำการเก็บตัวอย่างจากมารดาและทารกแรกคลอดที่อาศัยอยู่พื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารหนูที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่อาศัยในพื้นที่ที่ไม่มีสารหนูปนเปื้อน ผลการศึกษาพบว่า ในหญิงตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารหนูและสัมผัสกับสารหนูเป็นระยะเวลานาน มีการสะสมสารหนูในเล็บและผมของทารกสูงกว่าทารกทั่วไป และตรวจพบรูปแบบการแสดงออกของยีนส์แตกต่างไปจากทารกที่เกิดจากแม่ที่ไม่ได้รับสารหนู โดยยีนส์ที่มีศักยภาพสูงในการใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการได้รับสารหนูมี 11 ยีนส์ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ในเชิงสถิติมีความแม่นยำสูงถึง 83% โดยการทำงานของยีนส์ที่บ่งชี้ถึงการได้รับสารหนูมีความเกี่ยวข้องกับโครงข่ายการเกิดผลกระทบทางชีวภาพได้หลายรูปแบบ เช่นกระบวนการตายของเซลล์ที่ถูกกำหนดไว้แล้วการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์การอักเสบและ การตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคในทารกกลุ่มดังกล่าวในที่สุด งานวิจัยนี้ได้ทำร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาจูเซทส์ ผลงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS Genetics ในปี พ.ศ. 2550 และได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 15 เรื่องของงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2550 ของสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Environmental Health Science: NIEHS)

    สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มีการติดตามพัฒนาการของเด็กเหล่านี้มาโดยตลอด นอกจากนั้นยังได้ขยายขอบเขตงานวิจัยโดยมีพื้นที่ศึกษาที่เขตชานกรุงฮานอย ประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม โดยเป็นความร่วมมือกับสถาบันอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาจูเซทส์ สหรัฐอเมริกา การศึกษาติดตามผลในเด็กที่ได้รับสัมผัสสารหนูตั้งแต่ในครรภ์พบว่าเมื่อโตขึ้นเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆในชีวิตมากขึ้นรวมทั้งโรคมะเร็ง เนื่องจากมีการทำลายสารพันธุกรรมหลายชนิด โครงการวิจัยนี้ได้ขยายผลเพื่อศึกษาวิธีการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับสารหนู โดยใช้สารยับยั้งกลไกในระดับโมเลกุลที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ผลการศึกษาพบว่า S-adenosyl methionine (SAM) และกรดโฟลิก สามารถลดความเป็นพิษของสารหนูได้โดยการลดการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ และความเสียหายของสารพันธุกรรม โดยเฉพาะกรดโฟลิกซึ่งเป็นวิตามินที่ให้หมู่เมทิล จึงมีศักยภาพในการป้องกันการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ดังนั้นจึงมีศักยภาพในการประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับสัมผัสสารหนูในประชากร

แท็ก

แชร์