ผลกระทบของการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศที่เป็นพิษต่อพันธุกรรมในประชากรกลุ่มเสี่ยง
มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงและสถานะของโรคในประชากรโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามลพิษทางอากาศเชื่อมโยงอย่างมากกับการตายและการเจ็บป่วยอันเนื่องจากผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็ง ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศที่เป็นพิษต่อพันธุกรรมนั้นมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ ผลการวิจัยพบว่าสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งปอด ในขณะที่สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย เช่นเบนซินและ 1,3-บิวทาไดอีน นั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมลพิษเหล่านี้มีแหล่งที่มาที่หลากหลาย ทั้งจากการเผาไหม้ตลอดจนการผลิตและการใช้ในภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงได้มุ่งเน้นไปที่การวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพของประชาชน โดยใช้หลักการของระบาดวิทยาระดับโมเลกุลและการใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพต่างๆ รวมถึงตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของการรับสัมผัสและตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของผลกระทบทางชีวภาพในระยะเริ่มแรก เช่นผลกระทบต่อดีเอ็นเอ ห้องปฏิบัติการพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมได้ทำการศึกษาทางระบาดวิทยาระดับโมเลกุลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรที่รับสัมผัสสารเคมี เช่น ประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของการรับสัมผัสและตัวบ่งชี้ถึงผลกระทบทางชีวภาพระยะเริ่มแรกเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชากรเหล่านี้ ผลการศึกษาพบว่าประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับสารมลพิษทางอากาศที่เป็นพิษต่อพันธุกรรมเหล่านี้ที่มีแหล่งที่มาของมลพิษที่สัมพันธ์กับการจราจร (เช่น ตำรวจจราจร พ่อค้าแม่ค้าข้างถนน และเด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ) หรือจากการทำงาน (เช่น คนงานในโรงงานปิโตรเคมี) หรือจากแหล่งอื่นๆ เช่นจากควันธูปในการประกอบศาสนกิจในวัด มีปริมาณสาร PAHs เบนซิน และ 1,3-butadiene ที่สูงกว่าประชากรกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าระดับของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องของผลกระทบทางชีวภาพในระยะแรก เช่น การแตกของสายดีเอ็นเอและ 8-ไฮดรอกซีดีออกซีกัวโนซีน มีค่าสูงขึ้น ในขณะที่ความสามารถในการซ่อมแซมดีเอ็นเอต่ำกว่าในกลุ่มประชากรที่ได้รับสัมผัสสารเหล่านี้ ความเสียหายของ DNA ที่ตรวจพบมีความสัมพันธ์กับระดับการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศที่เป็นพิษต่อพันธุกรรมเหล่านี้ ความเสียหายของ DNA ที่เพิ่มขึ้นและความสามารถในการซ่อมแซม DNA ที่ลดลงอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งในประชากรเหล่านี้
งานวิจัยนี้ได้มีการตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ และได้รับการอ้างอิงอย่างมากมาย ส่งผลให้งานวิจัยนี้ได้รับรางวัล Special Award in the Better Air Quality ในปี พ.ศ. 2551 และรางวัล “ความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์” จากคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร และ โทรคมนาคมของวุฒิสภาแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2555 ผลการวิจัยยังนำไปสู่ความตระหนักรู้ที่เพิ่มมากขึ้นและมาตรการเชิงนโยบายในการตรวจสอบระดับสารก่อมะเร็งในอากาศ ตลอดจนมาตรการลดระดับสารก่อมะเร็งบางชนิด เช่น สารเบนซีนในน้ำมันเบนซินจาก 3.5% ลงเหลือ 1% ในประเทศไทยในปี 2550 ผลการศึกษาเกี่ยวกับควันธูปซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Chemical-Biological Interactions และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสามรายการข่าววิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทยในปี 2551 ยิ่งไปกว่านั้นผลการวิจัยนี้เป็นผลให้กรมควบคุมโรคและวัดหลายแห่งออกคำแนะนำให้ลดการใช้ธูปหรือใช้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดระดับการรับสัมผัสสารก่อมะเร็งในประชาชนทั่วไป
งานวิจัยอื่นๆเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ รวมถึงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสสารอินทรีย์ระเหยง่ายในชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ตลอดจนการได้รับทุนการศึกษาภายใต้ United Nations Environment Programme (UNEP) ปี 2560 เรื่อง “การประเมินคุณภาพอากาศ สำหรับนโยบายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย” สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรมควบคุมมลพิษ, และกรมอนามัย การศึกษานี้มุ่งประเด็นไปยังความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5, PM10 และโอโซน และข้อมูลการสำรวจด้านสุขภาพสำหรับโรคระบบทางเดินหายใจ, โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอื่นๆในประเทศไทย ตลอดจนการประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ