ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงร่วมประชุมเตรียมความพร้อมกับคณะผู้แทนไทยในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Rio+20)

19 มิ.ย. 2555
0

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เวลา 17.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในฐานะผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และองค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เสด็จยังศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เพื่อทรงประชุมเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Rio+20 กับคณะผู้แทนไทย อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับปฏิบัติงาน และระดับที่สามารถตัดสินใจในเชิงนโยบาย โดยได้ถวายรายงานการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และน้อมรับพระนโยบายเพื่อผู้แทนไทยจะได้มีบทบาทในการเจรจาภายใต้การประชุมดังกล่าวอย่างเหมาะสม

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Rio+20 จะจัดขึ้นในระหว่างวันทื่ 13-22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ณ นครรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เพื่อให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติมาร่วมกันให้คำมั่นต่อการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการที่เหมาะสม ภายใต้หัวข้อหลัก 2 ประเด็น ได้แก่ เศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการแก้ไขปัญหาความยากจน (Green Economy within the Context of Sustainable Development and Poverty Institutional) และกรอบสถาบันระหว่างประเทศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Framework for Sustainable Development) ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาในด้านต่าง  ๆ ดังนี้
  1. มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สามารถเอื้อประโยชน์ และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยเน้นหลักการ “คนเป็นหัวใจในการพัฒนา”
  2. ร่วมกับประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติในการกำหนดบทบาทและรูปแบบขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในส่วนของการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเสริมสร้างสมรรถภาพในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
  3. ริเริ่มความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับประเทศพัฒนาแล้ว หรือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน หรือความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตลอดจนความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
  4. เป็นโอกาสอันดียิ่งที่ประเทศไทยจะได้นำเสนอและเผยแพร่ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น

ประกาศ ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2555

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด