สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กับโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาราษฎร์
จากการที่ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ออกทรงเยี่ยมราษฎรในทุกภูมิภาคตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ จึงทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎร์ และเพราะทรงเข้าพระทัยถึงปัญหาต่างๆ ของการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีพระดำริให้จัดตั้ง “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงาน วิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางเคมี ทางแพทย์ และด้านอื่นๆ ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมให้ความร่วมมือในการวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผลงานวิจัยที่ทันสมัยกับสถาบันอื่นๆ ทั้งใน และนอกประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ยังดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสภาพแวดล้อมรวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สำนักกิจกรรมพิเศษ เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ดำเนินงานดูแลด้านกิจกรรมพิเศษผ่านโครงการพิเศษต่าง ๆ อาทิ โครงการทับทิมสยาม โครงการเซรามิค โครงการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ และโครงการ อุทยานใต้ทะเล จุฬาภรณ์ 36 เป็นต้น
โครงการอุทยานใต้ทะเล จุฬาภรณ์ 36 ในพระดำริ เริ่มดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เพื่ออนุรักษ์ ทรัพยากรทางทะเล ปัจจุบันมีสมาชิกซึ่งเป็นนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ (นพอ.) ประมาณ 1,000 คน แบ่งงานหลัก ออกเป็น 2 ส่วน คือ การทำค่ายเยาวชนอนุรักษ์ทะเล ปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กๆ ในพื้นที่รักทะเล และการดูแลรักษาปะการังไม่ให้ถูกทำลายจากสมอเรือที่ทิ้งลงทะเล โดยใช้วิธีวางทุ่นสำหรับผูกจอดเรือ นับเป็นการฟื้นฟูปะการังโดยวิธีธรรมชาติไปในขณะเดียวกันอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมปี พ.ศ. 2557 โครงการอุทยานใต้ทะเล จุฬาภรณ์ 36 โดยสำนักกิจกรรมพิเศษ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่
1. โครงการค่ายเยาวชนอนุรักษ์ทะเล ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2557 ณ ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ให้แก่เยาวชนอายุระหว่าง 12-18 ปี จากโรงเรียนในจังหวัดพังงา และจังหวัดใกล้เคียง กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยาย เกี่ยวกับการอนุรักษ์ใต้ทะเล เพื่อปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติใต้ท้องทะเล ปะการัง ประโยชน์และแนวทางการอนุรักษ์ สาธิตและฝึกการใช้อุปกรณ์ดำน้ำ พร้อมนำเด็กๆ ชมศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลและเรือรบหลวง กิจกรรมในครั้งนี้ ได้สร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก จากผู้เข้า ร่วมโครงการ
2. โครงการฝึกอบรมดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใต้ทะเล รุ่นที่ 19 ระหว่างวันที่ 24 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2557 ณ หน่วยบัญชาการ สงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นโครงการสร้างนักดำน้ำสมัครเล่น โดยเปิดสอนหลักสูตรการฝึก ดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล (Underwater Reservation Diving) เพื่อการพักผ่อน (Recreation Diving) และการทำงานใต้น้ำระดับหนึ่ง (Limited Underwater Working Diving) ตามมาตรฐานสากล Open Water ของ NAUI แห่งสหรัฐอเมริกา โดยให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความสามารถในการดำน้ำด้วยเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำแบบวงจรเปิดใต้ทะเล และเพิ่มความรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์ใต้ทะเลเขตร้อนไว้ในหลักสูตรด้วย
3. โครงการซ่อมแซมและวางทุ่นผูกเรือป้องกันแนวปะการัง บริเวณหมู่เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ฝั่งทะเลอันดามัน เป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยมีเป้าหมายเพื่อซ่อมแซมทุ่นผูกเรือป้องกันแนวปะการังให้ครบวงจร กล่าวคือตรวจหา บำรุงรักษา ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนใหม่ ทั้งนี้ การวางทุ่นผูกเรือ ในแนวปะการังเป็นวิธีหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรแนวปะการัง เป็นการป้องกันมิให้แนวปะการังถูกทำลายจากการทิ้งสมอเรือของเรือท่องเที่ยว และเรือประมง
ในปี พ.ศ. 2557 ได้กำหนดจัดกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ห้วงเวลา คือ
ห้วงเวลาที่ 1 ระหว่างวันที่ 21 – 24 ตุลาคม 2557 ณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน
ห้วงเวลาที่ 2 ระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤศจิกายน 2557 ณ บริเวณหมู่เกาะพีพี หมู่เกาะราชา
ห้วงเวลาที่ 3 ระหว่างวันที่ 5 – 11 ธันวาคม 2557 ณ อุทยานแห่งชาติ หาดเจ้าไหม บริเวณเกาะกระดาน เกาะไหง เกาะเชือก เกาะม้า และพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา
จึงขอเชิญชวนบุคลากรของสถาบันฯ ที่เป็นสมาชิกนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ทางทะเล (นพอ.) ทุกรุ่น สามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมอาสากับโครงการ ซ่อมแซมและวางทุ่นผูกเรือป้องกันแนวปะการัง บริเวณหมู่เกาะ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ฝั่งทะเลอันดามัน โดยรับจำนวนจำกัด
ผู้สนใจต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักกิจกรรมพิเศษ อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 5 สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถนนวิภาวดี-รังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร. 0-2553-8555 ต่อ 8163 , หรือ www.thaidive.org