องค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทรงเสริมสร้างองค์ความรู้พัฒนาประเทศ
การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The 4th Junior International Conference on Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia – JICCEOCA-4 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการในสาขาวิชาอินทรีย์เคมีในภูมิภาคเอเชีย ( Asian Core Program (ACP) : Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia) โดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นโครงการวิชาการเสริมสร้างเครือข่ายการวิจัยในระดับนานาชาติที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยอาศัยเครือข่ายที่มีอยู่ในแต่ละประเทศสมาชิกจำนวน 7 ประเทศ และ 1 เขตการปกครองพิเศษ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) สาธารณรัฐเกาหลี ประเทศไทย สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย และ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นรากฐาน และใช้การจัดประชุมประจำปีเป็นสื่อกลางที่สำคัญในการนำเสนอผลงานวิจัยที่โดดเด่น มีคุณภาพ ยอดเยี่ยมจากนักวิจัยและคณาจารย์ในแต่ละประเทศสมาชิก
นอกจากนั้น ยังเป็นเวทีให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากประเทศสมาชิกของ Asian Core Program (ACP) : Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ความก้าวหน้าและวิทยาการที่นำสมัย ตลอดจนร่วมฟังการบรรยายจากนักวิจัยและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการวิจัยและมิตรภาพอันดีระหว่างนักศึกษาด้วยกัน รวมทั้งระหว่างนักศึกษากับนักวิจัยและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนางานวิจัย การเรียนการสอน ตลอดจนการประยุกต์ใช้สาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียโดยรวมต่อไปในอนาคต อีกด้วย
ในการประชุมทางวิชาการฯ ครั้งนี้ คณะกรรมการจัดการประชุมได้เชิญคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมนำเสนอผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนความรู้อีกหลายท่าน เช่น
ศาสตราจารย์ ชิเคอิ มัสซึนากะ (Professor Shigeki Matsunaga) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ผู้เชี่ยวชาญด้านอินทรีย์เคมีของสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากสิ่งมีชีวิตทางทะเลและการใช้กระบวนการทางอินทรีย์เคมีในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีโครงสร้างซับซ้อน นอกจากนั้นยังได้รับรางวัล Lectureship อีกด้วย
ศาสตราจารย์ ฮี เซิง ลี (Professor Hee-Seung Lee) รองผู้อำนวยการ Molecular-Level Interface Research Center (MIRC) แห่งสถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (Korea Advanced Institute of Science and Technology : KAIST) มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดเรียงตัวเอง (self-assembly) แบบสามมิติของโปรตีนที่สังเคราะห์ขึ้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดรูปทรงต่างๆ (foldecture) ที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการนำเอาไปใช้ในงานวิจัย อีกทั้งยังได้รับรางวัล Lectureship ด้วยเช่นกัน
ศาสตราจารย์ มิโนรุ อิโซเบะ (Professor Minoru Isobe) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติซุนยัตเชน (National Sun Yat-Sen University) มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา อาทิ อินทรีย์เคมีสังเคราะห์ อินทรีย์เคมีของสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ชีวอินทรีย์เคมี รวมทั้งการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกับเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการความร่วมมือทางวิชาการในสาขาวิชาอินทรีย์เคมีในภูมิภาคเอเชียด้วย
นับว่าการประชุมครั้งนี้ได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักวิจัยนานาชาติรุ่นใหม่ๆ และคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ จากกลุ่มประเทศสมาชิก แต่ประการสำคัญที่สุดคือเป็นการสนองพระราชปณิธานในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมุ่งหวังให้เกิดความตื่นตัว การมีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่ายวิจัยของนักวิจัยและคณาจารย์ในสาขาอินทรีย์เคมีจากสถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพงานวิจัยภายในประเทศให้มีศักยภาพทัดเทียมคุณภาพงานวิจัยในต่างประเทศอีกด้วย