สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา
แม้สถานการณ์อุทกภัยของพื้นที่ภาคใต้ในปัจจุบันจะเริ่มคลี่คลายมากขึ้นแล้ว แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่ใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังทรงห่วงใยในทุกข์สุขของราษฎรจึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ให้ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนตลอดจนฟื้นฟูสภาพชีวิตความเป็นอยู่แก่ผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยม และพระราชทานถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา ตามลำดับ
วันที 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงเยี่ยมและพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ที่ว่าการอำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทรงติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอจุฬาภรณ์ ซึ่งมีราษฎรได้รับความเดือดร้อนรวม 7,300 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง จำนวน 6 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวนมาก อำเภอจุฬาภรณ์ได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งบัดนี้ได้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อยู่ในช่วงการฟื้นฟูสภาพบ้านเรือน เส้นทางคมนาคม และ สาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆ
โอกาสนี้ ทรงมีพระดำรัสถึงความห่วงใยของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบอุทกภัย โดยได้พระราชทานกำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัย ที่ไปเฝ้ารับเสด็จดั่งใจความตอนหนึ่งว่า “เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้ ข้าพเจ้ามาดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัย ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วที่ข้าพเจ้าไปที่ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และในช่วงนั้น ข้าพเจ้าก็ออกหน่วย พอ.สว.ร่วมด้วย ก็เป็นการทำงานที่ยาวนาน … และเตรียมอยู่แล้วว่าจะต้องมาเยี่ยมทุกคน ทุกแห่งที่ได้รับประสบอุทกภัย ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจดีว่า การสูญเสียข้าวของบ้านเรือนไปกับน้ำท่วมเป็นอย่างไร…” ยังความปลื้มปีติแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยทุกคน
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้พระราชทานถุงยังชีพ ซึ่งบรรจุสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งเครื่องอุปโภค และบริโภค จำนวน 1,000 ชุด แก่ตัวแทนของราษฎรที่ประสบอุทกภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้แทนหน่วยงานราชการต่าง ๆ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่สมาชิกตามหมู่บ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม
นอกจากนี้ ยังโปรดให้หน่วยแพทย์พระราชทานจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และหน่วยแพทย์ พอ.สว. ออกหน่วยบริการตรวจรักษาราษฎรตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมีผู้ป่วยไปรับบริการ 278 คน โรคที่พบมากคือ โรคระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และโรคผิวหนัง พร้อมกันนี้ พระราชทานพระวรโกาสให้แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยนำผู้เจ็บป่วยจำนวน 2 ราย เฝ้า ประกอบด้วย ผู้ป่วยด้วยโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ต้อหิน และผู้ป่วยด้วยโรคข้อเข่ายึดติด
โอกาสนี้ พระราชทานเงินช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายสงเคราะห์ครอบครัว และโปรดให้ส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลที่เหมาะสมกับโรคต่อไปด้วย
จากนั้น ทรงประกอบอาหารเป็นเมนูข้าวผัดสเปน และพระราชทานแก่ผู้ประสบอุทกภัยที่มาเฝ้ารับเสด็จ ให้ได้รับประทานอย่างทั่วถึง ซึ่งได้สร้างความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
สำหรับ อำเภอจุฬาภรณ์ เป็นอำเภอที่ 19 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เจริญพระชันษาครบ 3 รอบ โดยอำเภอจุฬาภรณ์ มีลักษณะ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา แบ่งเขตการปกครองเป็น 6 ตำบล 30 หมู่บ้าน 30,073 ครัวเรือน
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงเยี่ยมและพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง ณ โรงเรียนดอนศาลานำวิทยา อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
โอกาสนี้ ทรงติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งปัจจุบันได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้ เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ของราษฎร 6 อำเภอ และเกิดการท่วมขังเป็นเวลานาน ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้การระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้พื้นที่อำเภอควนขนุน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 84,313 คน รวม 12 ตำบล 129 หมู่บ้าน และมีพื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
จากนั้น พระราชทานถุงยังชีพ ซึ่งบรรจุอาหารและเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันแก่ตัวแทนของราษฎรที่ประสบอุทกภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และผู้แทนหน่วยงานราชการต่าง ๆ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกตามหมู่บ้าน รวม 1,000 ถุง อีกทั้งพระราชทาน ถุงยังชีพสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยคณะสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์จัดถวาย อาทิ อาหารเม็ด ยารักษาโรค และแชมพูอาบน้ำสัตว์เลี้ยงด้วย
พร้อมกันนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และหน่วยแพทย์ พอ.สว.ที่โปรดให้ออกหน่วยบริการตรวจรักษาโรคแก่ราษฎร โดยมีผู้เจ็บป่วยเข้ารับการรักษาจำนวน 79 คน โรคที่พบมากคือ โรคระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ โรคจักษุ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบทางเดินอาหาร
โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้คณะแพทย์ผู้ทำการรักษานำผู้เจ็บป่วยเฝ้าจำนวน 2 ราย ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งกล่องเสียง และอีกรายป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ กระดูกสันหลังคดและลมชัก ซึ่งโปรดให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยได้พระราชทานเงินช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเป็นค่าใช้จ่ายสงเคราะห์ครอบครัวในเบื้องต้น
สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นั้น ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเบื้องต้นแล้ว อาทิ สร้างบ้านใหม่ทดแทนแก่ราษฎรที่บ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง จ่ายเงินทดแทนแก่เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ทั้งยางพารา นาข้าว พร้อมทั้งให้สัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด เข้าไปช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงของราษฎรที่ประสบอุทกภัยด้วยเช่นกัน
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงเยี่ยมราษฎร และพระราชทานถุงยังชีพให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ณ โรงเรียนสทิงพระวิทยา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
“ …ก็ได้ทราบมาว่า ชาวสงขลาได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง แม้ว่าราชการจะเข้ามาช่วยแล้วบ้าง แต่ก็ยังไม่พอที่จะช่วยเหลือให้ทุกคนมีสุขภาพ มีชีวิตที่ราบรื่น มั่นคง ในส่วนของการบูรณะอำเภอสทิงพระ ข้าพเจ้าจะขอมีส่วนให้ความช่วยเหลือ โดยจะขอให้เช็คไว้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าพเจ้าหวังว่าสิ่งเล็กๆน้อยๆ จะช่วยให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น…”
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานถุงยังชีพ ซึ่งบรรจุสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันทั้งเครื่องอุปโภค และบริโภค จำนวน 1,000 ชุด พร้อมทั้งพระราชทานถุงยังชีพสำหรับ สัตว์เลี้ยง โดยคณะสัตวแพทยอาสาจุฬาภรณ์ จัดถวาย ประกอบด้วย ยารักษาโรคต่างๆ อาหารเม็ด แชมพูอาบน้ำสัตว์เลี้ยง แก่ตัวแทนของราษฎรที่ประสบอุทกภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อนำไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัย
นอกจากนั้น ยังโปรดให้หน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และหน่วยแพทย์ พอ.สว. ออกหน่วย ให้บริการตรวจรักษาราษฎร โดยมีผู้ไปรับบริการ 167 คน โรคที่พบมาก คือ โรคระบบกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบจักษุ โรคระบบผิวหนัง รวมถึง โรคมะเร็งและเนื้องอก ตลอดจนการให้บริการด้านทันตกรรม ซึ่งมีผู้เข้ารับบริการ 85 คน พร้อมกันนี้ ทรงเยี่ยมผู้ป่วยนำเฝ้า พร้อมมีพระวินิจฉัยในการหาแนวทางรักษา 2 ราย ได้แก่ โรคมะเร็งกระดูกขาซ้ายลุกลามไปที่ปอดและกระดูกซี่โครง และโรคท่อทางเดินน้ำเหลืองอุดตันบริเวณขาซ้าย โดยโปรดให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลศิริราช อีกทั้งยังได้พระราชทานเงินช่วยเหลือในเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ และเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวของผู้ป่วยด้วย
นอกจากนี้ ยังโปรดให้สัตวแพทย์อาสาโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ออกพื้นที่ตรวจรักษาสัตว์เลี้ยงต่างๆ ของราษฎร และยังทรงประกอบอาหารเมนูข้าวผัดหยางโจวเพื่อพระราชทานให้กับผู้ประสบอุทกภัยที่ไปเฝ้ารับเสด็จให้ได้รับประทานด้วย
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดสงขลา พบพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้รวม 14 อำเภอ มีบ้านพักอาศัย ทรัพย์สินพื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์เสียหายเป็นจำนวนมาก โดยอำเภอสทิงพระมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 11 ตำบล 79 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 11,421 ครัวเรือน 37,227 คน แต่สถานการณ์ปัจจุบันได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือราษฎร โดยขณะนี้สถานการณ์อยู่ในช่วงของการเยียวยาและฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงจิตใจของราษฎรผู้ประสบภัย ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน โดยการเสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยมและพระราชทานความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยครั้งนี้ ยังความซาบซึ้งเป็นล้นพ้นในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระกรุณาธิคุณ ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของราษฎร และได้พระราชทานความช่วยเหลือเพื่อให้ราษฎรพ้นจากความทุกข์ยากเดือดร้อน ตลอดจนฟื้นฟูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
สำนักประธานสถาบัน