องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่องการเกิดโรคมะเร็ง Oncogenesis พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาสาธารณสุข บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และบุคลากรส่วนส่งเสริมวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ประจำวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2565

07 ม.ค. 2565
0

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 12.50 นาที ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง Oncogenesis พระราชทานแก่ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2 นักศึกษาพยาบาล ชั้นปีที่ 3 นักศึกษาสาธารณสุข ชั้นปีที่ 1 บัณฑิตศึกษา และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 104 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เฝ้ากราบทูลรายงานและกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณ

สำหรับรายวิชานี้ จะทรงบรรยายใน 7 หัวข้อหลัก โดยในวันนี้ ทรงบรรยายพระราชทานใน 2 หัวข้อ ประกอบด้วย “ภาพรวมของการเกิดมะเร็งและชีววิทยาการเจริญของเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีพื้นฐานมาจากพันธุกรรม” และหัวข้อ “ระยะต่าง ๆ ของการเกิดมะเร็งและกลไกที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งวิชานี้มีความสำคัญต่อนักศึกษาแพทย์อย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยหัวข้อแรก ทรงบรรยาย ภาพรวมของการเกิดมะเร็งและชีววิทยาการเจริญของเซลล์มะเร็ง ซึ่งการเกิดโรคมะเร็งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต รวมถึงการได้รับสัมผัสสารเคมี ไวรัสก่อมะเร็ง และรังสี นอกจากนี้ ยังทรงบรรยายถึงลักษณะเฉพาะของเซลล์มะเร็งซึ่งแตกต่างไปจากเซลล์ปกติทั่วไป ที่แบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เพิ่มจำนวนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การรุกล้ำและการแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวโมเลกุลและชีวเคมีต่าง ๆ นำไปสู่การค้นพบยีนที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเกิดมะเร็งที่เรียกว่า อองโคยีน หรือ ยีนมะเร็ง และยีนที่ทำหน้าที่ต่อต้านการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การยับยั้งการควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และการพัฒนาการรักษามะเร็งสามารถทำได้โดยการรักษาแบบมุ่งเป้า

ส่วนในหัวข้อที่ 2 ทรงบรรยายในหัวข้อ “ระยะต่าง ๆ ของการเกิดมะเร็งและกลไกที่เกี่ยวข้อง” เกี่ยวกับกระบวนการเกิดมะเร็งที่มีหลายขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเริ่มต้น (Initiation) ขั้นก่อตัว (Promotion) และขั้นกระจายตัว (Progression) ซึ่งต่างมีความซับซ้อนในตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งขั้นเริ่มต้นเป็นเรื่องกลไกลการเกิดมะเร็งจากสารเคมี ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ แต่เชื่อว่าสามารถแยกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ กลไกที่มีการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอโดยตรง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ และภายหลังกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งถือว่าเป็นขั้นเริ่มต้นของกระบวนการเกิดมะเร็ง แต่ร่างกายของคนปกติสามารถซ่อมแซมดีเอ็นเอ หรือยีนด้วยเอ็นไซม์ ก่อนที่เซลล์จะแบ่งตัว จึงจะรักษาสภาพเดิมได้ ซึ่งความผิดปกติของโครงสร้างในดีเอ็นเอนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กระบวนการควบคุมการแบ่งตัวและการทำงานของเซลล์ผิดไป ทั้งนี้ ทรงยกตัวอย่างกระบวนการที่เกิดขึ้นจากสารก่อมะเร็งที่ทำลายดีเอ็นเอโดยตรงชนิดต่าง ๆ ได้แก่ สารอะฟลาท๊อกซิน Aflatoxin เป็นสารพิษจากเชื้อราพบได้ในเมล็ดธัญพืชชนิดต่าง ๆ สารไนโตรซามีน ที่มักพบในอาหาร เช่น ปลาร้า กะปิ เครื่องดื่มบางชนิด เป็นต้น และกลไกที่ไม่ได้มีการทำลายดีเอ็นเอโดยตรง ซึ่งกลไกนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแสดงออกของยีน ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็ง ซึ่งตลอดการบรรยายพระราชทานในวันนี้ ทรงยกตัวอย่างประกอบทำให้นักศึกษาเข้าใจในเนื้อหา และบทเรียนได้ง่ายขึ้น และต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงทุ่มเท และทรงเตรียมการสอนอย่างเต็มที่ นับเป็นพระกรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
7 มกราคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด