องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่องการเกิดโรคมะเร็ง Oncogenesis พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาสาธารณสุข บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และบุคลากรส่วนส่งเสริมวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ประจำวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565

10 ม.ค. 2565
0

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 12.55 นาที ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง Oncogenesis พระราชทานแก่ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 นักศึกษาพยาบาล ชั้นปีที่ 4 นักศึกษาสาธารณสุข ชั้นปีที่ 4 และบัณฑิตศึกษา ตลอดจนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และบุคลากรส่วนส่งเสริมวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 80 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ในหัวข้อที่ 3 “ชีววิทยาของมะเร็ง – การเพิ่มจำนวนของเซลล์ : วัฏจักรเซลล์และวิถีการส่งสัญญาณ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ (CANCER BIOLOGY Cell Proliferation: Cell Cycle and Signaling Pathways)” ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานสำคัญ ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในหลักการที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะกระบวนการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง

“โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ถึงแม้ว่าระบบวงจรการควบคุมของเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติจะเหมือนกันเกือบทุกอย่าง แต่เซลล์มะเร็งก็หาวิธีใหม่ ๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ ได้แก่ การเพิ่มขยายจำนวน การเข้าสู่ภาวะที่หยุดการแบ่งตัว และเข้าสู่ช่วงปลายของอายุขัยของเซลล์หรือความชราภาพ และกระบวนการตายของเซลล์ ซึ่งปกติร่างกายจะมีการควบคุมให้มีความสมดุลและเหมาะสม แต่หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการควบคุมในระบบเหล่านี้ ก็จะนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งขึ้นได้ การเพิ่มจำนวนของเซลล์ มีความเกี่ยวข้องกับวัฏจักรของเซลล์ หรือวงจรการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่การสร้างดีเอ็นเอเพื่อเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมเป็นการเตรียมความพร้อมไปจนเข้าสู่กระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ออกเป็น 2 เซลล์ โดยในแต่ละระยะ การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง จะมีจุดที่ตรวจสอบและควบคุมความถูกต้องและคุณภาพการทำงานของเซลล์ ซึ่งขึ้นกับโปรตีนจำเพาะหลายชนิดที่คอยควบคุมวิถีการส่งสัญญาณ ให้มีการทำงานได้เหมาะสมและถูกเวลา หากเกิดกลไกความผิดปกติที่จุดควบคุมเหล่านี้ อาจจะส่งผลให้เกิดมะเร็งขึ้นได้

นอกจากนี้ ทรงอธิบายถึงกระบวนการส่งสัญญาณเข้าสู่เซลล์ ซึ่งนำไปสู่การตอบสนองของเซลล์ และทรงยกตัวอย่างความสำคัญของภาวะที่เซลล์เข้าสู่ความชราภาพ หรือ เรียกว่า senescence โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี จนในที่สุดเซลล์จะหยุดการแบ่งตัวลงอย่างถาวร ซึ่งเซลล์กลุ่มที่อยู่ในภาวะชราภาพนี้ อาจมีความสำคัญที่ทำให้การรักษามะเร็งโดยใช้ยานั้นไม่ประสบความสำเร็จ โดยปกติแล้ว เซลล์มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะอยู่ต่อไป จะเข้าสู่กระบวนการตายที่เรียกว่า apoptosis ซึ่งเป็นกระบวนการที่ร่างกายกำจัดเซลล์ ที่ก่อให้เกิดปัญหา

ทั้งนี้ ตลอดการบรรยายทรงยกตัวอย่างประกอบเพื่อความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในเรื่องชีววิทยาหรือคุณสมบัติของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนกลไกในแต่ละขั้นตอนหรือกระบวนการเจริญเติบโต การเพิ่มจำนวนเซลล์ จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จนถึงการพัฒนายาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นนับเป็นพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่คณาจารย์ นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาสาธารณสุข ตลอดจนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และส่วนส่งเสริมวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
10 มกราคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด