องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่องการเกิดโรคมะเร็ง Oncogenesis พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 และนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 1 – 2 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 12.55 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ทรงบรรยายพิเศษ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) เรื่อง “การเกิดโรคมะเร็ง Oncogenesis” พระราชทานแก่ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 และนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 1-2 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 103 คน
สำหรับการบรรยายพระราชทานครั้งนี้ ทรงบรรยายในหัวข้อที่ 4 เรื่อง อองโคยีน หรือยีนก่อมะเร็ง กับการควบคุมการเจริญของเซลล์ (Oncogenes and Growth Control) และหัวข้อที่ 5 เรื่องยีนระงับการเกิดมะเร็ง (Tumor Suppressor Genes) ตามลำดับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน 7 หัวข้อหลักของรายวิชาดังกล่าวนี้
สำหรับหัวข้อที่ 4 “อองโคยีน หรือยีนก่อมะเร็ง กับการควบคุมการเจริญของเซลล์” ได้ทรงบรรยายถึงการค้นพบ อองโคยีน จากการศึกษายีนในไวรัสที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจพื้นฐานการเกิดมะเร็งในระดับโมเลกุลในคน พร้อมกันนี้ ทรงยกตัวอย่าง การเกิดอองโคยีนจากไวรัส (Retroviral oncogenes) โดยที่ยีนของไวรัสแทรกเข้าไปในยีนของเซลล์ และเข้าควบคุมการทำงานของยีนนั้น การกลายพันธุ์ของยีน การย้ายตำแหน่งของโครโมโซม รวมทั้งการเพิ่มจำนวนของยีนที่พบในมะเร็งต่างชนิดกัน ที่เป็นกลไกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยีนปกติให้เป็นยีนก่อมะเร็ง หรืออองโคยีน
จากนั้น ทรงขยายความสำคัญของกระบวนการเหล่านี้ ในระดับโมเลกุล โดยเน้นการควบคุมการเจริญของเซลล์ ซึ่งในเซลล์ปกติจะถูกควบคุมด้วยปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญของเซลล์ชนิดต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้ เป็นกลุ่มของโปรตีนที่ทำหน้าที่หลายระดับและขั้นตอนในการควบคุมให้เซลล์มีการแบ่งตัวในอัตราที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป แล้วทรงอธิบายให้เข้าใจถึงกระบวนการต้านการเกิดมะเร็งภายในเซลล์ หรือมีการหยุดแบ่งตัว และเซลล์นั้นเข้าสู่โปรแกรมการทำลายตัวเอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดอองโคยีน จะทำให้มีการสร้างโปรตีนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ หรือ โครงสร้างและหน้าที่แตกต่างจากโปรตีนของยีนปกติที่มีอยู่เดิม หรือเกิดความผิดปกติของการแสดงออกของยีน จนกระทั่งทำให้เกิดเซลล์มะเร็งในที่สุด
นอกจากนี้ ทรงบรรยายต่อเนื่องในหัวข้อถัดไป คือ หัวข้อที่ 5 “ยีนระงับการเกิดมะเร็ง” ซึ่งเป็นยีนที่สามารถระงับ หรือ ยังยั้งการแสดงออกของการเกิดโรคมะเร็ง โดยทรงบรรยายถึงยีนที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการการเกิดมะเร็งในภาวะปกติ และทำหน้าที่ตรงข้ามกับ ยีนก่อมะเร็ง (Oncogenes) คือ Tumor Suppressor Genes ยีนระงับการเกิดมะเร็ง ซึ่งยีนกลุ่มนี้ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ในหลายลักษณะ โดยจะสร้างโปรตีนที่มีหน้าที่ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์ไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป และยังมีบทบาทในการควบคุมการตายของเซลล์เมื่อเซลล์สิ้นอายุขัย หรือเมื่อมีความผิดปกติของ ดีเอ็นเอ หรือโครโมโซม ซึ่งไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว ดังนั้น เมื่อยีนเหล่านี้เกิดความผิดปกติ เช่น การกลายพันธุ์หรือสูญหายไปจากเซลล์ ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ในยับยั้งหรือควบคุมการเจริญของเซลล์ เซลล์จึงจะมีการเพิ่มจำนวน (Cell Poliferation) อย่างไม่หยุดยั้ง และจะทำให้เกิดมะเร็งขึ้นในที่สุด ยีนต้านมะเร็งนั้นมีหลายชนิดและทำหน้าที่ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งต่างกัน ทั้งนี้ ทรงยกตัวอย่างยีนระงับการเกิดมะเร็ง (Tumor Suppressor Genes) ที่มีความสำคัญ และมีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ยีน p53 ซึ่งพบว่า มีการกลายพันธุ์ของยีนนี้บ่อยที่สุดในมะเร็งที่พบในคน ตัวอย่างที่พบการกลายพันธุ์ในปริมาณดังต่อไปนี้ อาทิ 70% ในมะเร็งลำไส้ ชนิด colon cancer , 30-50% ในมะเร็งเต้านม (breast cancer) และ 50% ในมะเร็งปอด (lung cancer) โดยที่ยีน p53 จะสร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่จำเพาะในการป้องกันการเกิดเซลล์ที่ผิดปกติ คือมีบทบาทเสมือนเป็น “Genomic policeman” ตำรวจที่คอยตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้น ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน และเป็นกลไกการป้องกันไม่ให้เกิดการแบ่งตัวหากมีความผิดปกติขึ้นในสารพันธุกรรมในเซลล์นั้น
จากนั้นทรงบรรยายถึงกลไกการควบคุมการทำงานของยีนนี้ในรายละเอียด และทรงยกตัวอย่างการศึกษาการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน p53 ในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร และ มะเร็งลำไส้ ด้วย ช่วงท้าย ได้ทรงสรุปเปรียบเทียบคุณลักษณะของ ยีนก่อมะเร็ง (Oncogenes) และยีนระงับการเกิดมะเร็ง (Tumor Suppressor Genes) เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งในระดับโมเลกุล อันจะนำไปสู่การพัฒนายาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
พระกรุณาธิคุณในฐานะ “ทูลกระหม่อมอาจารย์” ที่ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ ทั้งในเรื่องยีนก่อมะเร็ง (Oncogenes) และยีนระงับการเกิดมะเร็ง(Tumor Suppressor Genes) ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาวินิจฉัยโรคมะเร็ง ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่ตรงกับลักษณะของโรค การใช้ยาที่ตรงเป้าหมาย ตลอดจนการพัฒนายาในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นับเป็นพระกรุณาธิคุณแก่คณาจารย์ และนักศึกษาสังกัดสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี อย่างหาที่สุดมิได้
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
4 กุมภาพันธ์ 2565