ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานพระนโยบาย แนวทางการปฏิบัติงาน โครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565

08 ก.พ. 2565
0

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 14.05 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พระราชทานพระวโรกาสให้คุณหญิงจรัสศรี ทีปิรัช รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายบริหารและผู้อำนวยการสำนักองค์ประธาน นำนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมคณะ เฝ้า เพื่อรับพระนโยบาย แนวทางการปฏิบัติงาน พร้อมทรงติดตามความคืบหน้าโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

 

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงรับเป็นองค์ประธานในการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ที่มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2450 โดยทรงซื้อที่ดินเพื่อจัดสร้างพระราชวังแห่งนี้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมีพระราชประสงค์นอกจากเป็นที่ประทับขณะแปรพระราชฐานมายังเมืองนครปฐมแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่เสด็จออกว่าราชการ และต้อนรับพระราชอาคันตุกะ รวมถึงเป็นฐานที่ตั้งกองบัญชาการ และการฝึกซ้อมรบของเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับป้องกันประเทศในยามคับขัน

ระยะเวลากว่า 100 ปี ที่ผ่านมา พระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้ เป็นสมบัติของชาติบ้านเมืองที่ตกทอดมาถึง 5 รัชกาล ซึ่งสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในพระราชวังแห่งนี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา นับเป็นพระราชวังอันเก่าแก่ที่ยังคงความงดงามด้วยการผสมผสานสไตล์สถาปัตยกรรมไทยและตะวันตกได้อย่างกลมกลืน อีกทั้งยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไทย เปรียบเสมือนอนุสรณ์สถานรำลึกถึงพระราชจริยวัตรในพระองค์ ตลอดจนพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของประเทศในรัชสมัยของพระองค์ จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และโบราณสถานสำคัญที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยตลอดไป ซึ่งเป็นไปตามพระประสงค์ ขององค์ประธานในการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์

 

เพื่อให้การดำเนินงานโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม บนพื้นที่ทั้งหมด 148 ไร่ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สนองพระปณิธานฯ จึงได้บูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ได้ร่วมกันดำเนินงานบูรณะอาคารต่าง ๆ และบริเวณงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม งานโครงสร้าง งานระบบต่าง ๆ รวมทั้งงานภูมิสถาปัตย์ โดยได้กำหนดแผนงานการดำเนินโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก เริ่ม มกราคม 2565 – สิงหาคม 2567 ระยะที่สอง เริ่ม มกราคม 2566 – มิถุนายน 2570

 

พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ ณ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ภายในพระราชวังประกอบด้วย มวลหมู่พระที่นั่ง และพระตำหนักอันมีความงามวิจิตรตระการตา นอกจากนี้ ยังมีเรือนข้าราชบริพาร อาคารและสิ่งก่อสร้าง ๆ จำนวนมาก เมื่อได้เข้ามาเยี่ยมชม จะได้สัมผัสกับความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทยในอดีต ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติอันร่มรื่น และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงสร้างสรรค์พระราชวังสนามจันทร์ ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของชาติตราบนิจนิรันดร์

 

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
8 กุมภาพันธ์ 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด