ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทรงเป็นประธาน เปิดการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิจุฬาภรณ์สามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ Video Conference วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2565 เวลา 13.59 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิจุฬาภรณ์สามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ Video Conference เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของมูลนิธิจุฬาภรณ์ โดยมีระเบียบวาระการประชุมฯ ต่างๆ อาทิ การรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิจุฬาภรณ์สามัญประจำปี 2564 การดำเนินกิจกรรมเพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ และการดำเนินการเรื่องสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค เป็นต้น
ในการนี้ ทรงห่วงใยและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในสุกรอย่างใกล้ชิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จึงมีพระดำริให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หน่วยงานภายใต้มูลนิธิจุฬาภรณ์ ประสานความร่วมมือไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความชำนาญในการแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ โรค ASF (African swine fever) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิจัย และพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสุกร ระหว่างนักวิชาการของทั้ง 2 ประเทศ อันจะนำไปสู่ความพร้อมในการรับมือแก้ปัญหา ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้แก่ประเทศชาติในอนาคตอย่างยั่งยืน
“มูลนิธิจุฬาภรณ์” ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2529 ตามพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยทรงมุ่งหวังที่จะนำความก้าวหน้าการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย ซึ่งนอกจากงานสนับสนุนวิทยาศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิตแล้วนั้น ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิจุฬาภรณ์ยังคงดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์หลากหลายรูปแบบเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ การให้ความช่วยเหลือการดูแลรักษา และสงเคราะห์ผู้ป่วยยากไร้ การมอบทุนการศึกษาและอุปการะค่าเล่าเรียนให้แก่เยาวชนที่ยากไร้ การบรรเทาความเดือดร้อนสงเคราะห์ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติทั่วประเทศ รวมถึงการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่โรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิจุฬาภรณ์ องค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ จึงดำเนินการจัดตั้งโครงการสาธารณกุศลในพระดำริขึ้น อย่างโครงการถักร้อย-สร้อยรัก เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อช่วยเหลือ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนต่อไป
ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565