ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดให้ออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี วันที่ 2 เมษายน 2565

04 เม.ย. 2565
0
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีพระประสงค์ขับเคลื่อนการดำเนินงานในโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญ ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดให้สัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ โดยให้บริการตรวจคัดกรองสุขภาพของสัตว์เบื้องต้น พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทำการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
สำหรับการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ได้มีการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการร่วมกันจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่จิตอาสาของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี สำนักงานปศุสัตว์เขต 4 มหาวิทยาลัยราชภัฎจังหวัดอุดรธานี และมณฑลทหารบกที่ 24 ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับวันนี้ เป็นวันสุดท้ายของการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ในจังหวัดอุดรธานี มีประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดข้างเคียงให้ความสนใจนำสุนัขและแมวเข้ามารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารวมจำนวน 136 ตัว และมีการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวรวมจำนวน 106 ตัว
ซึ่งการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ตลอดทั้ง 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 – 31 มีนาคม และวันที่ 2 เมษายน นี้ มีประชาชนนำสุนัขและแมวมารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผ่าตัดทำหมัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 752 ตัว เพื่อควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ และตัดวงจรโรคพิษสุนัขบ้าไม่ให้ก่ออันตรายมาสู่คนได้อีกต่อไป นับเป็นการรณรงค์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า อันเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
4 เมษายน 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด