ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงติดตามความก้าวหน้าและ การดำเนินงานของโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ณ ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี วันที่ 7 เมษายน 2565

08 เม.ย. 2565
0

ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมุ่งมั่นตั้งพระทัยในการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงมีพระนโยบายให้จัดตั้งโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงกลุ่มยารักษามะเร็งประสิทธิภาพสูงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 เวลา 10.10 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงติดตามความก้าวหน้าและการดำเนินงานของโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ที่ตั้งอยู่บริเวณตำหนักพิมานมาศ ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 นับเป็นโรงงานต้นแบบผลิตเภสัชภัณฑ์รักษาโรคมะเร็งที่มีความทันสมัยและครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการจัดตั้งเขตนวัตกรรมเภสัชศาสตร์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการต่อยอดนำงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการเข้าสู่กระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานสากล และสามารถนำผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตได้มาใช้กับผู้ป่วยได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเป็นการเชื่อมโยงองค์ความรู้และประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการผลิตเภสัชภัณฑ์กับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตเภสัชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการรักษาโรคมะเร็งใช้ได้เอง

โอกาสนี้ ทรงปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ณ ห้องปฏิบัติการ ชั้น 3 โดยทรงเตรียมสารสำหรับวิเคราะห์เภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทรงทดสอบสารปนเปื้อนของสารประกอบอนินทรีย์ในตัวยาสำคัญ ด้วยวิธีการเผาไหม้ ทรงหาค่าความชื้นในตัวยาสำคัญ และทรงพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารในการผลิตยา เพื่อตรวจวิเคราะห์ควบคุมคุณภาพทางเคมีฟิสิกส์ชั้นสูง และควบคุมคุณภาพด้านจุลชีวะ ในการผลิตยารักษามะเร็งกลุ่มมุ่งเป้าที่มีประสิทธิภาพของยาสามารถควบคุมโรคได้ดี และมีอาการข้างเคียงต่อผู้ป่วยต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ายากลุ่มนี้มากถึงปีละกว่าหมื่นล้านบาท ด้วยสมรรถนะและความสามารถในการผลิตยาจากโรงงานเภสัชภัณฑ์ในพระดำริแห่งนี้ จะช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการผลิตเภสัชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่ประเทศไทย พร้อมกันนี้ ทรงทดสอบการปลดปล่อยตัวยาสำคัญจากยาเม็ด และทดสอบความแข็งความหนา และความกร่อนของยาเม็ดด้วย

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปที่ชั้น 1 เพื่อทอดพระเนตรส่วนผลิตยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า ซึ่งมีเครื่องจักรระบบสนับสนุนสำหรับการผลิตยาเม็ดที่ทันสมัย อาทิ เครื่องชั่งสารสำคัญในการผลิตยา และสารช่วยทางเภสัชกรรมอื่น ๆ เครื่องผสมและเครื่องทำ Granule เครื่องตอกอัดยามะเร็งให้เป็นเม็ด ที่สามารถตอกอัดยาเม็ดต่อเนื่อง 170,000 เม็ดต่อชั่วโมง และเครื่องเคลือบยาเม็ดระบบปิด โดยเครื่องจักรทั้งหมดมีการออกแบบด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความปลอดภัยสูงมาก ระดับ OEB5 เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นยาฟุ้งกระจาย เป็นอันตรายต่อตัวผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม

อาคารโรงงานแห่งนี้ ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และสมรรถนะ โดยสถานที่ผลิต และเครื่องจักรมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีการทำงานอย่างอัตโนมัติในระบบปิดภายใต้สภาวะแวดล้อมของการทำงานที่มีความสะอาด ปลอดภัย เหมาะสมสำหรับการผลิตยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีคุณภาพสูง และคงไว้ซึ่งสวัสดิภาพสูงสุดต่อผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งป้องกันสารเคมีปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม มีระบบการควบคุมคุณภาพ และการประกันคุณภาพ เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตยาในระดับสากล อีกทั้งยังครอบคลุมถึงการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ในพระดำริอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิต GMP อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มีการร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการวิจัยและพัฒนาตำรับยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย โดยใช้เครื่องมือเครื่องจักรที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องตามมาตรฐานสากลในการผลิตรุ่นทดลอง เพื่อการศึกษาคุณสมบัติของตำรับยาให้ครบถ้วนก่อนการขึ้นทะเบียนยา และมีแผนที่จะขยายการผลิตเพื่อนำไปใช้อย่างกว้างขวางภายในปี พ.ศ. 2566 นี้                                      

นอกจากการเตรียมความพร้อมการผลิตยารักษามะเร็งแล้ว ปัจจุบันโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาตำรับยาอื่น ๆ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาโรคภัยต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาตำรับยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามข้อกำหนด มีความคงตัว มีขั้นตอนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน เหมาะแก่การผลิตที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ผู้ที่มีความสนใจต่อไป และการพัฒนาตำรับยูเรียครีมสำหรับใช้เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังในผู้ป่วยมะเร็งที่มีปัญหาผิวแห้ง เป็นต้น

ในปีที่ผ่านมา โรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ได้เผยแพร่องค์ความรู้จากการปฏิบัติงาน และเป็นแหล่งฝึกอบรมการออกแบบสถานที่ผลิตยา เครื่องจักร ระบบสนับสนุนกระบวนการผลิต วิธีการตรวจรับรอง รวมไปถึงการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการผลิตยา ให้แก่ นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เช่น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น

เป็นที่น่าภาคภูมิใจ ที่ประเทศไทยมีโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์รักษาโรคมะเร็งที่ทันสมัยแบบครบวงจรเป็นแห่งแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงนำความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของปวงชนชาวไทยอย่างยั่งยืน

 

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
8 เมษายน 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด