ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ครั้งที่ 2/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ณ ห้องประชุม ชั้น 11 อาคารศูนย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ วันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2565
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงห่วงใยในปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ จึงโปรดให้ดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธานฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา โดยทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงป็นรองประธานกรรมการฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ทรงติดตามความก้าวหน้าผลการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 เวลา 14.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 11 อาคารศูนย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธานฯ ครั้งที่ 2/2565 โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธานฯ ร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) โดยทรงติดตามและรับฟังการถวายรายงานถึงความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธานฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ภายใต้กรอบการดำเนินโครงการฯ 8 ประเด็นยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 2) การจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ 3) การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุม และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน 4) การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น 5) การประชาสัมพันธ์ 6) การบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า 7) ด้านการติดตาม และประเมินผล และยุทธศาสตร์ที่ 8) การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งนี้ สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2565) ตรวจพบสัตว์ให้ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าสะสม จำนวน 69 ตัวอย่าง แบ่งเป็นสุนัข 66 ตัว แมว 1 ตัว และโค 2 ตัว ส่วนใหญ่พบโรคในสุนัขที่ไม่ทราบประวัติการมีเจ้าของอยู่ที่ 95.7% ของสัตว์ที่พบผลบวกทั้งหมดในพื้นที่ 12 จังหวัด โดยจังหวัดชลบุรี พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด และในปี พ.ศ. 2565 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้วจำนวน 1 ราย
โอกาสนี้ มีพระดำรัสในที่ประชุมฯ เกี่ยวกับผลการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน 2565 ที่ผ่านมา จากการเสด็จไปทรงงานออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ด้วยพระองค์เอง ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ดังความตอนหนึ่งว่า “ที่เราได้ทำไปนี้ได้ออกหน่วยแบบเต็มรูปแบบที่ จ.อุดรธานี 2 ครั้ง ได้ฉีดยากันพิษสุนัขบ้าและได้ทำหัตถการในสุนัขบางตัวที่ต้องทำหัตถการ ครั้งแรกเรามีสุนัขมารับบริการ 1,441 ตัว ในครั้งที่ 2 มีสุนัขมารับบริการประมาณ 900 ตัว รวมทั้งหมดที่อุดรธานี เราได้ช่วยชาวบ้านและสุนัขของเขา และช่วยสุนัขจรจัด ภายใน 1 เดือนเราทำไปกว่า 2,000 ตัว”
พร้อมกันนี้ พระราชทานพระนโยบายในที่ประชุมเพิ่มเติม ด้วยทรงมีพระประสงค์ให้มีการออกหน่วยบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือดูแลสุขภาพประชาชนและสุขภาพของสัตว์ควบคู่กันไปด้วย
โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” เป็นโครงการตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงตั้งพระทัยมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยพระประสงค์ที่จะให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทยโดยเร็ว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้การขับเคลื่อนของโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธานฯ อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการดูแลสุขภาพอนามัย การป้องกัน และการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของประชาชนทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติในอนาคตอย่างยั่งยืน
ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์
สำนักองค์ประธาน
19 เมษายน 2565