พระกรุณาธิคุณด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อช่วยเหลือปวงประชาและสรรพสัตว์ ณ สนามกีฬาราชนาวี กม.5 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี วันที่ 20 เมษายน 2565
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงตั้งพระทัยมุ่งมั่น ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนชาวไทย รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่มีความใกล้ชิดกับคนได้เข้าถึงการรักษา และการบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เพื่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ด้วยทรงถือเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 เวลา 08.22 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดให้ออกหน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อตรวจรักษาสุขภาพของประชาชน และออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ณ สนามกีฬาราชนาวี กม.5 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
โอกาสนี้ ได้พระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ (สำหรับสุนัขและแมว) จำนวน 100 โดส แก่ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมพระราชทานอาหารสุนัข จำนวน 100 กระสอบ แก่พลเรือโท รณรงค์ สิทธินันท์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน สำหรับนำไปดูแลสุนัข ภายในศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดของกองทัพเรือ โดยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ในการนี้ ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตร และทรงเยี่ยมการออกหน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่โปรดให้ออกหน่วยบริการตรวจรักษาพยาบาล การให้คำแนะนำในการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพทั่วไปให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่มาขอรับบริการเป็นจำนวนมาก โดยวันนี้มีประชาชนเข้ามารับบริการตรวจรักษาโรคทั่วไป รวม 173 คน ปัญหาสุขภาพที่พบ อาทิ โรคระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรคผิวหนัง โรคประสาท โรคจักษุและโรคทางเดินหายใจ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ และทรงเยี่ยมประชาชนที่นำสัตว์เลี้ยงมารับบริการ จากนั้น ทรงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัขเพศผู้จำนวน 2 ตัว และทรงร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัข จำนวน 12 ตัว เพื่อควบคุมการขยายพันธุ์ของประชากรสุนัขจรจัดในพื้นที่ ในการนี้ ทรงวางยาสลบให้กับสุนัขแต่ละตัว และทรงติดตามสัญญาณชีพของสุนัข ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด ผ่านจอมอนิเตอร์ที่แสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิตรวมถึงอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อทรงประเมินความปลอดภัยของสุนัขระหว่างการผ่าตัด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด
สำหรับวันนี้ มีประชาชนในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดข้างเคียงได้ให้ความสำคัญของมหันตภัยร้ายแรงของโรคพิษสุนัขบ้า ต่างทยอยเดินทางเข้ามาขอรับบริการ ตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นจำนวนมาก โดยมีประชาชนนำสุนัขและแมวไปรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารวมจำนวน 203 ตัว และ มีการผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขและแมว รวมทั้งสิ้น 181 ตัว
สำหรับการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์นับเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญในการรณรงค์ขับเคลื่อนในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยโปรดให้หน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ร่วมกันวางแผนการดำเนินงานเพื่อการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ผ่านกิจกรรมหลักต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจสุขภาพทั่วไปของสัตว์ การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ การผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขและแมว รวมถึงการอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกวิธี
ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นจำนวนมาก ภายหลังที่ได้ดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันระหว่างสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อสนองพระปณิธานฯ ในการบรรลุเป้าหมายที่สำคัญ คือ ไม่มีคนและสัตว์เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อประชาชนชาวไทย และสรรพชีวิตทั้งหลายภายใต้ร่มพระบารมี
สำนักองค์ประธาน
21 เมษายน 2565