ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ณ สนามเฮลิคอปเตอร์ กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี วันที่ 2 – 3 พฤษภาคม 2565

09 พ.ค. 2565
0

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ที่จะให้ประเทศไทยปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2573 ภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ที่ทรงเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ สู่ภูมิภาคต่าง ๆ ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

ดังการเสด็จมาทรงปฏิบัติพระกรณียกิจออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ณ สนามเฮลิคอปเตอร์ กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในระหว่างวันที่ 2 – 3 พฤษภาคม 2565 ทรงพระกรุณาโปรดให้ดำเนินการจัดกิจกรรมสัญจรแบบเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยเหลือสุนัขและแมวของประชาชนและสัตว์จรจัด ทั้งการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ และการผ่าตัดทำหมันควบคุมประชากรสุนัขและแมวทั้งที่มีเจ้าของและไร้เจ้าของ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุผลดังพระปณิธานฯ

ในการนี้ ทรงนำทีมออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขแต่ละตัว ทรงวางยาสลบ ด้วยการฉีดและดมยาสลบ พร้อมกับทรงติดตามเฝ้าระวังสัญญาณชีพของสุนัขด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด ผ่านจอมอนิเตอร์ที่แสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต รวมถึงอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อทรงประเมินความปลอดภัยของสุนัขระหว่างการผ่าตัด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ยาดมสลบที่ใช้ ประกอบด้วยตัวยา 2 ชนิด คือ Sevoflurane ร่วมกับ Desflurane ซึ่งทรงศึกษาพบว่าจะทำให้สัตว์สลบได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสัตว์ฟื้นจากสภาวะสลบได้อย่างรวดเร็ว มีความปลอดภัยสูงด้วย

อีกทั้ง การออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ครั้งนี้ ยังได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ในส่วนของท้องถิ่น ทั้งจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี และหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ที่ร่วมกันปฏิบัติงานออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่อย่างเต็มกำลังเพื่อให้พื้นที่ในจังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า สนองพระปณิธานในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยตลอดทั้ง 2 วันนี้ มีสุนัขและแมว ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผ่าตัดทำหมัน รวมทั้งสิ้น 190 ตัว

สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทยในปี 2565 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 1 รายในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และพบอัตราการเกิดโรคในสุนัขและแมวที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุหลักยังเกิดจากการที่ผู้ถูกสุนัขและแมวกัดแล้วไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตลอดจนการที่สุนัขและแมวไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ จึงทรงให้ความสำคัญและเน้นย้ำอยู่เสมอเพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาและร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อขจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยตามเป้าหมายโดยเร็ว

โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ ทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์เฝ้า รับพระราชทานพระดำรัส เพื่อให้ร่วมแรง ร่วมใจขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานฯ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “… ต้องขอบคุณน้องๆทุกคนที่มาช่วยสัตว์ของประชาชนรวมทั้งสัตว์เร่ร่อนที่ไม่มีเจ้าของ อันนี้ก็เป็นการทำบุญใหญ่ คือว่าเราช่วยสุนัขก็โยงไปถึงว่าเราต้องช่วยคนด้วย เพราะว่าคนที่เขาเป็นเจ้าของเขาก็จะปลื้มใจ ในการที่พวกเราเอาใจใส่พวกเขา และการที่พวกเรามาออกหน่วยอย่างนี้ถือได้ว่า พวกเรานี้ได้เข้าถึงประชาชนจริง ๆ … พี่เชื่อว่าน้อง ๆ ทุกคนก็คงเต็มกำลัง กับการที่เราช่วยกันทำนี้ พี่อยากให้ทุกคนต้องสามัคคีกันไว้ …”

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์
สำนักองค์ประธาน

9 พฤษภาคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด