พระกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อช่วยเหลือประชาชน และสรรพสัตว์ ณ มณฑลทหารบกที่ 42 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2565

18 พ.ค. 2565
0

ด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงเอาพระทัยใส่ในการดูแลทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ และทรงพระวิริยอุตสาหะบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่อความผาสุกของประเทศชาติและประชาชนชาวไทยเสมอมา

หนึ่งในพระภารกิจสำคัญที่ทรงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง คือ ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ในการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีแก่ประชาชนชาวไทย รวมถึงการดูแลรักษาสุขภาพของสัตว์เลี้ยง และสัตว์จรจัดในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์มาสู่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพิษสุนัขบ้า ดังการเสด็จมาทรงงานออกหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อดำเนินการให้บริการตรวจรักษาสุขภาพของประชาชน และออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ภาคใต้ ณ มณฑลทหารบกที่ 42 กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 5 ค่ายเสนาณรงค์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2565

ในการนี้ ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตร และทรงเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่โปรดให้ออกหน่วยบริการตรวจรักษาพยาบาล การให้คำแนะนำในการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพทั่วไปแก่ประชาชนในพื้นที่ที่มาขอรับบริการเป็นจำนวนมาก โดยตลอดทั้ง 2 วันนี้ มีประชาชนเข้ามารับบริการตรวจรักษาโรค รวม 313 คน ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ที่พบ อาทิ โรคระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรคเกี่ยวกับระบบประสาท โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคเกี่ยวกับดวงตา เป็นต้น

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ โดยบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา เทศบาลเมืองคอหงส์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งนี้ ทรงเยี่ยมประชาชนที่นำสัตว์เลี้ยงมารับบริการ ทรงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและทรงร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัข เพื่อควบคุมกำเนิดประชากรสุนัข และลดจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่ที่อาจเป็นพาหะของโรคพิษสุนัขบ้า มาสู่คนและสัตว์ได้ ซึ่งสัตว์ที่จะมารับการผ่าตัดทำหมันจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และต้องงดน้ำงดอาหารก่อนนำมารับบริการ 6-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหารขณะผ่าตัด

สำหรับกิจกรรมออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ที่จัดเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ การผ่าตัดทำหมันควบคุมประชากรสุนัขและแมว รวมถึงการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน และเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักรู้ถึงความรุนแรงและอันตรายของโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ รวมทั้งเห็นความสำคัญของการให้ความร่วมมือในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป สำหรับการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ตลอดระยะเวลา 2 วันนี้ มีจำนวนสุนัขและแมวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารวมจำนวน 293 ตัว และ มีการผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขและแมว รวมจำนวนทั้งสิ้น 261 ตัว

สำหรับสถานการณ์การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ของจังหวัดสงขลาในปี พ.ศ. 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2565 พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ของพื้นที่จังหวัดสงขลาจำนวน 10 ตัว แต่ยังไม่พบการรายงานของประชาชนผู้ติดเชื้อ หรือเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าภายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการระบาดในกลุ่มสุนัข คิดเป็นร้อยละ 95.7 ของตัวอย่างที่พบผลบวกทั้งหมดในปีพ.ศ.2565 ณ ปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่เป็นในกลุ่มสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ และมากกว่าร้อยละ 60 เป็นสุนัขที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน

โอกาสนี้ พระราชทานพระอนุญาตสัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับการทรงงานในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน และการขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยตามพระปณิธานฯ ภายใต้หลักการสุขภาพหนึ่งเดียว ดังพระดำรัสตอนหนึ่งว่า “…คือการออกมาอย่างนี้ หนูเองก็ไม่ได้ดูแลเฉพาะสัตว์ แต่ดูแลคนด้วย… ช่วยรักษาทุกคนทั้งที่เป็นโรคหนักๆหลายๆคน เราดูรอบหมดในเรื่องการสาธารณสุข ตั้งแต่คน สัตว์ และทุกอย่าง หนูก็เน้นอีกทีว่า พวกเราก็ทำด้วยใจ…ทุกคนก็ประสบกับอุปสรรคความยากลำบากต่าง ๆ กัน เช่น คนไข้ที่เป็นคนก็ต้องทนกับโรคที่เป็น ถึงแม้ว่าเราจะไปประคับประคองอย่างดีที่สุดแล้ว แต่เขาก็ยังมีความทุกข์อยู่ในใจ สำหรับสุนัขและแมวที่เราดูก็เหมือนกันเขาพูดไม่ได้ แต่หนูก็รู้ว่าเวลาตรวจนี่ เห็นว่าเขาเป็นโรคอะไรบ้าง ก็รู้ว่าเขาก็ต้องมาทนกับความทุกข์แล้ว…พวกเราทั้งหมอคนและทั้งสัตวแพทย์ที่ทำการรักษาเมื่อเวลาเห็นพวกเขาที่เป็นมากนี้ ใจพวกเราก็ทุกข์ ถึงจะต้องทุกข์พวกเราก็เต็มใจ ที่จะแบกรับความทุกข์ของพวกเขา ของประชาชนให้ได้ดีที่สุด”

 ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์
สำนักองค์ประธาน
วันที่ 18 พฤษภาคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด