ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน รวมถึงควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ณ ศูนย์สนามกีฬาสะพานหิน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต วันที่ 20-21 พฤษภาคม 2565

23 พ.ค. 2565
0

ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการสืบสานตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการพระราชทานความช่วยเหลือด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทรงสนับสนุนการสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ในโอกาสที่ได้เสด็จมาทรงปฏิบัติพระกรณียกิจออกหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ณ ศูนย์กีฬาสะพานหิน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2565 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระเมตตาธรรมที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสัตว์เลี้ยงของประชาชนและสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของให้สามารถเข้าถึงการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีและมีประสิทธิภาพ

ในการนี้ ทรงพระดำเนินไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่โปรดให้คณะแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ออกหน่วยปฏิบัติงานให้บริการตรวจสุขภาพและรักษาโรคทั่วไป พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาสุขภาพแก่ประชาชน ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ศูนย์บริการสาธารณสุข กองการแพทย์ เทศบาลนครภูเก็ต และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยตลอดทั้ง 2 วันนี้มีผู้เข้ามารับบริการตรวจรักษาโรคทั่วไป รวม 329 คน ส่วนมากป่วยด้วยโรค กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ รองลงมา คือ โรคระบบประสาท

โอกาสนี้ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์อย่างใกล้ชิด ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัข อีกทั้งพระราชทานพระวโรกาสให้ นายเทวิน แสวงสิน ปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ต เฝ้ารับพระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 100 โด๊ส สำหรับนำไปฉีดให้กับสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประชากรสุนัขและแมวทั้งหมด และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ภายใต้การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ

ทั้งนี้ การออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เป็นงานเชิงบูรณาการความร่วมมือระหว่าง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ในส่วนของท้องถิ่น จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ต สำนักงานปศุสัตว์เขต 8 และสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่เขต 8 ที่ร่วมกันปฏิบัติงานออกหน่วยสัตวแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่อย่างเต็มกำลังเพื่อให้พื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสําคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า สนองพระปณิธานฯ ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน สำหรับการจัดกิจกรรมออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ทั้ง 2 วันนี้ มีจำนวนสุนัขและแมวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารวมจำนวน 155 ตัว และ มีการผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขและแมว รวมจำนวนทั้งสิ้น 291 ตัว

โรคพิษสุนัขบ้า นับเป็นโรคที่มีความสำคัญและมีความร้ายแรง เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยสามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ผ่านทางการกัด ข่วน เลียบาดแผลจากสัตว์ที่มีเชื้อ หากผู้ที่ได้รับเชื้อแล้วไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างทันท่วงที เมื่อผู้ป่วยแสดงอาการของโรคแล้วจะเสียชีวิตทุกราย ทั้งนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว โค กระบือ แพะ แกะ หมู กระรอก ค้างคาว ฯลฯ สามารถติดเชื้อและเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าได้ โดยในประเทศไทยพบว่า สุนัขเป็นสัตว์นำโรคหลัก รองลงมาเป็นแมว ดังนั้น การป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนดำเนินงานด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ การคุมกำเนิดประชากรสัตว์เลี้ยง และสัตว์ไร้เจ้าของ ร่วมกับการรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกวิธี

นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงห่วงใยและตระหนักถึงความสำคัญทั้งด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน และสุขภาพของสัตว์เลี้ยงที่อยู่ใกล้ชิดกับคน พร้อมกับพระราชทานความช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
23 พฤษภาคม 2565

ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์
สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
23 พฤษภาคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด