ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดระยอง วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พุทธศักราช 2565
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดระยอง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตเบื้องต้น ตลอดจนเป็นขวัญ และกำลังใจให้แก่ผู้ประสบภัยด้วย
ณ ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทาน จำนวน 350 ชุด ที่บรรจุด้วย ข้าวสาร อาหารสำเร็จรูป ผ้าเช็ดตัว ยาสามัญประจำบ้าน ฯลฯ โดยมีนายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัย ส่งผลทำให้น้ำล้นตลิ่ง และเข้าท่วมขังในพื้นที่ โดยสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดจันทบุรี พบว่ามีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 5 อำเภอ 30 ตำบล 165 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 1,786 ครัวเรือน
จากนั้น ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ณ ศาลากลางจังหวัดระยอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ได้เชิญสิ่งของพระราชทาน จำนวน 700 ชุด ซึ่งเป็นเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ โดยมีนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นผู้รับมอบเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดต่อไป นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
สำหรับ สถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ส่งผลทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง และเข้าท่วมขังในพื้นที่ โดยมีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 4 อำเภอ มีประชาชนได้รับผลกระทบ 25,325 ครัวเรือน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย ประมาณ 214 หลัง พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ ประมาณ 1,315 ไร่ ซึ่งทางจังหวัด อำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 19 กันยายน 2565