ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน
วรขัตติยราชนารี พระราชทานสิ่งของยังชีพแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ณ โรงเรียนพิมายวิทยา ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

10 ต.ค. 2565
0

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 เวลา 11.04 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จไปยังโรงเรียนพิมายวิทยา ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อทรงติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ด้วยทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของราษฏรที่ได้รับผลกระทบ

โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเฝ้า กราบทูลสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับผลกระทบจากอิทธิพล “พายุโนรู” ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอ ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 20 อำเภอ บ้านเรือนถูกน้ำท่วมขัง 6,220 หลัง วัด 37 แห่ง โรงเรียน 38 แห่ง สถานที่ราชการ 9 แห่ง ถนน 174 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 165,507 ไร่

จากนั้นพระราชทานสิ่งของยังชีพ จำนวน 500 ชุด ประกอบด้วย เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ผ้าเช็ดตัว สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน หน้ากากอนามัย ยา และเวชภัณฑ์ แก่นายอำเภอพิมาย และผู้แทนราษฎรที่ประสบอุทกภัย จำนวน 10 ราย เพื่อเชิญไปมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยอำเภอพิมาย ได้นำไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และเป็นขวัญกำลังใจให้ราษฎรต่อไป

ต่อมาเวลา 11.30 น. เสด็จไปยังสะพานท่าสงกรานต์ ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ทรงติดตามสถานการณ์อุทกภัยในอำเภอพิมาย และทอดพระเนตรสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์อำเภอพิมาย เป็นพื้นที่รับมวลน้ำจากลำน้ำสายสำคัญจำนวน 5 สาย ที่ไหลมารวมกัน ได้แก่ ลำพระเพลิง ลำตะคอง ลำเชียงไกร ลำจักราช และลำน้ำมูล ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักสะสม ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง และท่วมขังในพื้นที่อำเภอพิมายเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบรวม 11 ตำบล 131หมู่บ้าน บ้านเรือนราษฏรถูกน้ำท่วมขัง 2,500 ครัวเรือน วัด 7 แห่ง โรงเรียน 9 แห่ง สถานที่ราชการ 4 แห่ง ถนน 20 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 17,217 ไร่

ปัจจุบัน จังหวัดนครราชสีมา บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเทศบาลตำบลพิมาย และองค์การบริหารส่วนประกอบส่วนตำบลในเมือง ซึ่งมีสถานที่สำคัญ ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย โรงพยาบาลพิมาย และโรงเรียนพิมายวิทยา เพื่อให้ราษฎร ผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และก้าวข้ามผ่านวิกฤตินี้โดยเร็ว

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 10 ตุลาคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด