ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน รวมถึงการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ณ มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2565
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงตั้งพระทัยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือและบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนชาวไทยเสมอมา และหนึ่งในพระภารกิจสำคัญ คือ การดูแลสุขอนามัยที่ดีของประชาชน รวมถึงการดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยง และสัตว์จรจัดทั่วทุกภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศอย่างครบวงจร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์มาสู่คนที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ออกหน่วยแพทย์พระราชทาน และออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
ในการนี้ ทรงเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์พระราชทาน มูลนิธิ พอ.สว.จังหวัดพะเยา ที่โปรดให้ออกหน่วยบริการตรวจสุขภาพและรักษาโรคทั่วไปแก่ประชาชน รวมทั้งตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ตามโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม แก่กลุ่มสตรี อายุระหว่าง 17 ถึง 70 ปี และตรวจรักษาโรคทางทันตกรรม พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ตั้งแต่การลงทะเบียน ซักประวัติ คัดกรองผู้ป่วย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต การวินิจฉัยโรค และการจ่ายยาตามอาการของโรค โดยตลอดทั้ง 2 วันนี้ มีประชาชนเข้ามารับบริการตรวจรักษา รวม 117 คน ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ที่พบ อาทิ โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปปฏิบัติพระกรณียกิจและตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ โดยโปรดให้จัดกิจกรรมอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงของประชาชน และสัตว์จรจัดในพื้นที่ ทั้งการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ การผ่าตัดทำหมันเพื่อควบคุมการขยายพันธุ์ของประชากรสุนัขและแมวในพื้นที่ รวมถึงการจัดฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. และเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักรู้เท่าทันป้องกันมิให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนดำเนินงานควบคุม และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ นายสมบัติ ศุภประภากร ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา เฝ้ารับพระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 500 โดส เพื่อนำไปฉีดให้กับสุนัขและแมวในพื้นที่จังหวัดพะเยา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ตลอดระยะเวลารวม 2 วันนี้ มีจำนวนสุนัขและแมวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารวมจำนวน 70 ตัว และ มีการผ่าตัดทำหมัน รวมจำนวน 193 ตัว เพื่อควบคุมการขยายพันธุ์ของประชากรสุนัขและแมว ที่อาจเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คน ซึ่งในปี 2565 จังหวัดพะเยา พบสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จำนวน 4 ตัว เนื่องจากวัคซีนโรคพิษสุนัขไม่เพียงพอ ทำให้สุนัขไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยทางจังหวัดได้ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้า และจัดทำโครงการ “ประชาร่วมใจ หมู่บ้านปลอดภัยโรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมวในพื้นที่จังหวัดพะเยา จนครบร้อยละ 100 รวมทั้งผ่าตัดทำหมันควบคุมประชากรสุนัขและแมวในชุมชน และคาดว่าในปี งบประมาณปี 2566 จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องจำนวน 10 แห่ง เป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมทั้งให้ประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ ในการควบคุมดูแลสุนัขและแมวอย่างเคร่งครัด
การออกหน่วยแพทย์พระราชทาน และหน่วยสัตวแพทย์พระราชทานในพื้นที่จังหวัดพะเยาครั้งนี้ เป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนชาวไทย รวมถึงสัตว์เลี้ยง สัตว์ไร้ที่พึ่งทั้งหลายสามารถเข้าถึงการให้บริการรักษา และการบำบัดป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง นับเป็นพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและพระปรีชาสามารถในการวางรากฐานของการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีทั้งของประชาชน ควบคู่กับการดูแลรักษาสุขภาพของสัตว์ที่อยู่ใกล้ชิดกับคน เพื่อสร้างความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชาวไทย และประเทศไทยปลอดจากโรคดังกล่าวอย่างยั่งยืนตลอดไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สำนักองค์ประธาน
วันที่ 18 ตุลาคม 2565