ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี วันที่ 8-9 ธันวาคม 2565

09 ธ.ค. 2565
0
 
ด้วยเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงให้ความสำคัญในด้านการสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทย อีกทั้งทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลไปถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์มาสู่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคพิษสุนัขบ้า” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ สำหรับในช่วงเดือนธันวาคมนี้ โปรดให้มีการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2565 ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชา การกองเรือยุทธการ เฝ้ารับพระราชทานอาหารสัตว์เลี้ยง และวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 700 โดส สำหรับใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสุนัขและแมวจรจัด ภายในศูนย์ดูแลสุนัขจรจัด ของกองเรือยุทธการ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่นต่อไป
พร้อมกันนี้ ทรงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขของประชาชน พร้อมกับพระราชทานป้ายคล้องคอสุนัขในโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ เป็นที่ระลึกด้วย
จากนั้นทรงงานวิสัญญีทางสัตวแพทย์เพื่อผ่าตัดทำหมันและรักษาโรคให้กับสุนัข เช่น อาการมดลูกอักเสบในสุนัขเพศเมีย ภาวะทองแดงในสุนัขเพศผู้ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ภายในรถผ่าตัดเคลื่อนที่ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง โดยมีอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ อันทันสมัย อาทิ เครื่องดมยาสลบ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้น้ำเกลือระหว่างผ่าตัด เครื่องจี้ห้ามเลือด และเครื่องเฝ้าระวังสัญญาณชีพ เพื่อให้การผ่าตัดทำหมันสุนัขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามหลักวิชาการทางสัตวแพทย์
สำหรับการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในครั้งนี้ มีทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ร่วมให้บริการตรวจรักษาสุขภาพสัตว์เลี้ยงของประชาชนด้วย อาทิ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี สำนักงานปศุสัตว์เขต 2 เทศบาลเมืองสัตหีบ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการทางสัตวแพทย์ภาคตะวันออก ซึ่งตลอดทั้ง 2 วันที่ผ่านมา ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัข และ แมว รวมจำนวน 327 ตัว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมจำนวน 585 ตัว สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์มาสู่คน อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มียาใช้รักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์เลี้ยงรวมถึงประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนการทำหมันให้กับสัตว์เลี้ยง เป็นการควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ และยังเป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดโอกาสการแพร่เชื้อ และลดอัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ได้อย่างยั่งยืน

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 13 ธันวาคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด