ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทาน ช่วยผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ด้วยน้ำพระทัยบรรเทาทุกข์ภัย ในยามที่ประชาชนประสบความเดือดร้อนจากภัยพิบัติธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงมีความห่วงใย และพระราชทานความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วนแก่ประชาชนของพระองค์อยู่เสมอ จึงโปรดให้ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 น. ที่หอประชุมอำเภอสิชล ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทาน จำนวน 600 ชุด เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขต่อไป ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้รับมอบสิ่งของพระราชทาน เพื่อจะเชิญไปมอบให้แก่ผู้ประสบความเดือดร้อนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่าน ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ และยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางการเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์อื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้มีพื้นที่ประสบภัย รวม 11 อำเภอ 44 ตำบล 319 หมู่บ้าน 11 ชุมชน ประชาชนที่ได้รับได้รับผลกระทบ จำนวน 21,295 ครัวเรือน 61,523 คน สำหรับอำเภอสิชล มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 9 ตำบล 110 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือนร้อน จำนวน 12,127 ครัวเรือน 33,717 คน

ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ลดลงแล้ว ทางจังหวัด องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุกภัยอย่างเต็มกำลัง พร้อมเร่งดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการต่อไป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
ถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 14 ธันวาคม 2565

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด