น้ำพระทัย … สู่การแพทย์และสาธารณสุขไทย เพื่อประชาชนและสรรพสัตว์ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 15 – 17 มกราคม 2566

19 ม.ค. 2566
0

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงตั้งพระทัยอันแน่วแน่ ในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีในด้านการแพทย์ และด้านการสาธารณสุขของประชาชนชาวไทย รวมถึงสรรพชีวิตทั้งหลายภายใต้ร่มพระบารมีให้ได้รับความผาสุกโดยทั่วกัน จึงโปรดให้ดำเนินกิจกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการดูแลสุขภาพอนามัย การป้องกัน และการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของประชาชน ตลอดจนดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ” ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

สำหรับในปี 2566 นี้ องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงตระหนักถึงการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการรณรงค์เสริมสร้างสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงแก่ประชาชน รวมถึงรณรงค์ป้องกัน และควบคุมการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มในพื้นที่ภาคใต้เป็นแห่งแรก ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2566

โอกาสนี้ โปรดให้ออกหน่วยแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว. จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลประจำท้องถิ่นต่าง ๆ ที่นำทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีความรู้ความชำนาญมาให้บริการประชาชนเริ่มตั้งแต่ การลงทะเบียน ซักประวัติ คัดกรองผู้ป่วย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต การวินิจฉัยโรค และการจ่ายยาตามอาการของโรค ทั้งนี้มีการให้บริการตรวจรักษาสุขภาพทั่วไป บริการทันตกรรม รวมถึงการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนจีน สำหรับปัญหาสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่ที่พบในพื้นที่ของทั้ง 2 จังหวัด อาทิ โรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก โรคระบบไหลเวียนเลือด โรคผิวหนัง และโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

ในการนี้ องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้พระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 500 โดส แก่ ปศุสัตว์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามลำดับ เพื่อนำไปฉีดสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสุนัขในท้องถิ่นต่อไป

ทั้งนี้ จากการเสด็จมาทรงงานทางสัตวแพทย์ด้วยพระองค์เองในครั้งนี้ จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้กับสุนัขและแมวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ฯ จนถึงปัจจุบัน พบว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ามีจำนวนลดลง สอดคล้องกับจำนวนสัตว์ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าที่ลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ส่วนสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ารายสุดท้ายเมื่อปี 2562 จำนวน 1 ราย

พร้อมกันนี้ ได้เสด็จพระดำเนินไปทอดพระเนตร การฝึกอบรมให้ความรู้ถึงมหันตภัยร้ายแรงของโรคพิษสุนัขบ้า แก่อาสาปศุสัตว์ และประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพื่อให้การเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ทรงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยงของประชาชน พร้อมกับพระราชทาน ป้ายห้อยคอสุนัขเป็นที่ระลึกโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ แก่เจ้าของสัตว์เลี้ยง

จากนั้นทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อผ่าตัดทำหมันสุนัขและรักษาโรคอื่น ๆ อาทิ เนื้องอกเต้านม เนื้องอกผิวหนัง มดลูกอักเสบ รักษาภาวะทองแดงของสุนัขตัวผู้ ภายในรถผ่าตัดทำหมันเคลื่อนที่ ที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง ซึ่งการทรงงานดังกล่าว ถือเป็นพระกรณียกิจที่สำคัญในการรณรงค์ช่วยลดปัญหาสุนัขจรจัด การดูแลรักษาสุขภาพ และการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 19 มกราคม 2566

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด