ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเป็นประธานการประชุมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งตับและท่อน้ำดี (TIGER-LC) ประจำปี 2566 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เวลา 09.46 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จไปยังห้องประชุม 1 ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงเป็นประธานการประชุม และติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งตับและท่อน้ำดี (Thailand’s Initiative in Genomics and Expression Research for Liver Cancer หรือ TIGER-LC) ประจำปี 2566 ซึ่งกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24-25 มกราคม 2566 เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนจากโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี ในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของโรคสูง และเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ โดยมีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute-NCI, USA) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมประชุม
ซึ่งในที่ประชุม คณะวิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ได้รายงานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อศึกษาโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีในระดับโมเลกุล เพื่อแยกกลุ่มย่อยของผู้ป่วย ที่จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีและเหมาะสมมากขึ้น รวมถึงงานวิจัยเรื่องโรคมะเร็งในการพัฒนาการรักษาผู้ป่วย โดยใช้ยาแบบมุ่งเป้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเสื่อมของเซลล์ การศึกษา Metabolite และบทบาทของ Microbiome กับการเกิดโรคมะเร็ง และการป้องกันโรคมะเร็งตับในชุมชนด้วยการลดการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ การประชุมได้หารือเกี่ยวกับการวางแผน ขยายผลการดำเนินโครงการ เพื่อศึกษาและการเก็บตัวอย่างเบื้องต้นจากผู้ป่วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ด้วย
โครงการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งตับและท่อน้ำดี (TIGER-LC) จัดตั้งขึ้นตามพระดำริในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยทรงห่วงใยประชาชนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต ไม่น้อยกว่าปีละ 15,000 คน โดยมะเร็งชนิดนี้ จะแบ่งย่อยได้เป็นมะเร็งเซลล์ตับที่มีสาเหตุหลักเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี และมะเร็งท่อน้ำดีที่มีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับสารเคมีที่ได้รับจากชีวิตประจำวัน การได้รับพยาธิใบไม้ในตับ และอื่น ๆ สำหรับการรักษาโรคมะเร็งชนิดนี้ยังเป็นปัญหา เนื่องจากการตรวจพบโรคนั้นจะพบเมื่ออยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว และมักจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งยังขาดความรู้เกี่ยวกับกลไกการเกิดโรค และยาที่จะใช้รักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทรงตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำการวิจัยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีเพื่อหาแนวทางป้องกันโรค ตลอดจนการตรวจวินิจฉัย พยากรณ์ และการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตที่ยืนยาว และสามารถใช้ชีวิตได้ปกติสุขต่อไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 25 มกราคม 2566