ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

24 เม.ย. 2566
0

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ นายสุรพิทย์ กีรติบุตร รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ” ณ โรงแรมคลาสสิค คามิโอ ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าของโครงการฯ ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งทางด้านวิชาการ และประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติงานจริง รวมถึงเรื่องสุขภาพของคน สัตว์ และการบริหารจัดการปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในชุมชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสร้างการตระหนักรู้ถึงวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืนต่อไป ผ่านกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้ทางวิชาการ การอบรมและฝึกปฏิบัติวิธีการใช้ Application เพื่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในโรงเรียนและชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าร่วมอบรม จำนวน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ครูผู้สอนด้านสุขศึกษา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และผู้แทนชุมชนในพื้นที่ รวมประมาณ 200 คน

ทั้งนี้ องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงห่วงใยในสุขภาพอนามัยของประชาชน ตลอดจนสุขภาพของสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัดไร้ที่พึ่ง ด้วยทรงมีพระประสงค์มุ่งมั่นในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า ให้หมดไปจากประเทศไทย โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้ 8 ประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งการจัดโครงการฝึกอบรมฯ เป็น 1 ใน 8 ยุทธศาสตร์ ที่สนับสนุนความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ” อย่างเป็นรูปธรรม ในประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยการสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้คนและสัตว์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับเป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งของการดำเนินกิจกรรมฯ ตามประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าว และมีความพร้อมในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 24 เมษายน 2566

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด