ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญ ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ ได้รับรางวัล Huw Taylor Prize 2023
ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญ ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัลอันทรงเกียรติ Huw Taylor Prize 2023 จากสมาคม International Water Association (IWA) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิจัยผู้มีผลงานวิจัยโดดเด่นด้านน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลในพื้นที่ประสบเหตุฉุกเฉินหรือพื้นที่กำลังพัฒนา (2023 IWA-HRWM Huw Taylor Prize for Exceptional Scientific Contribution to Provide Water and Sanitation Solutions in Emergency and Developing Settings) พิธีมอบรางวัลจัดขึ้นในงานประชุมวิชาการ 21st International Symposium on Health-related Water Microbiology (WaterMicro 23) ซึ่งจัดขึ้นโดย Health-related Water Microbiology (HRWM) Specialist Group, IWA ระหว่างวันที่ 4 – 9 มิถุนายน 2566 ณ เมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย
รางวัลนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ Professor Huw Taylor ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยไบรตัน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้อุทิศตนที่ทำงานวิจัยด้านการจัดหาน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลในพื้นที่ประสบเหตุฉุกเฉินหรือพื้นที่กำลังพัฒนา รางวัลนี้เริ่มให้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2017 และ ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน เป็นนักวิจัยไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ได้รับรางวัลนี้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลคนที่ 3 ตั้งแต่มีการมอบรางวัลมา
ผลงานวิจัยของ ดร.ขวัญรวี ที่ได้รับการพิจารณาให้เข้ารับรางวัล ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่องการพัฒนาวิธีการตรวจระบุแหล่งกำเนิดมลพิษด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ Microbial Source Tracking อย่างครบวงจร โดยทำการศึกษาไวรัสและแบคทีเรียที่อาศัยในระบบทางเดินอาหารที่จำเพาะกับมนุษย์และสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น สุกร โค เป็นต้น เพื่อเป็นดัชนีระบุการปนเปื้อนน้ำเสียรายกิจกรรม งานวิจัยประกอบด้วยการพัฒนาวิธีตรวจเพาะเชื้อและการตรวจวัดสารพันธุกรรมของเชื้อในน้ำตัวอย่าง รวมทั้งทำการประเมินประสิทธิภาพ ข้อได้เปรียบและข้อจำกัดของแต่ละวิธีให้สอดรับกับความต้องการและความรุนแรงของปัญหามลพิษทางน้ำในพื้นที่จริง โดยเส้นทางการพัฒนางานวิจัยตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมาของ ดร.ขวัญรวี แบ่งเป็น 3 ระยะ ผ่าน 3 ท. (ทุน-ทีม-พื้นที่) ได้แก่ 1. งานวิจัยระยะที่หนึ่ง – การสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและการยอมรับ (ท1 – ทุนวิจัยและพัฒนา) 2. งานวิจัยระยะที่สอง – การบูรณาการความเชี่ยวชาญข้ามศาสตร์ (ท2 – ทีมงานเชี่ยวชาญข้ามศาสตร์) และ 3. งานวิจัยระยะที่สาม – การนำไปใช้และหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ (ท3 – หน่วยงานในพื้นที่เห็นประโยชน์)
ในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ ดร.ขวัญรวีได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานวิจัยแบบปากเปล่า ในหัวข้อ “Fecal Source Identification in Surface Water Catchment to Support Water Safety Plan in Thailand” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยในระยะที่สาม ที่หน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ ได้แก่ การประปานครหลวง ได้เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยและสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อทำการศึกษาแหล่งกำเนิดมลพิษในแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาให้กับผู้ใช้น้ำในเขตกรุงเทพและปริมณฑลกว่า 2.5 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นประชากรประมาณ 12 ล้านคน ผลการศึกษาของโครงการสนับสนุนการดำเนินการตามแผนน้ำประปาปลอดภัยและการสร้างเสถียรภาพระบบน้ำดิบ-ผลิต-จ่าย ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การประปานครหลวง
การได้รับรางวัลอันทรงเกียรติและได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการ รวมทั้งได้นำเสนอผลงานวิจัยของดร.ขวัญรวี ในครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเผยแพร่ผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ตลอดจนสร้างการยอมรับในศักยภาพนักวิจัยไทยในการทำงานวิจัยเชิงลึกที่มีผลกระทบสูง และสามารถต่อยอดองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้