ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อการบริหารจัดการแก้ปัญหาสุนัขจรจัด และกำจัดภัยโรคพิษสุนัขบ้า ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ จึงมีพระปณิธานแน่วแน่ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาสุนัขจรจัด และกำจัดภัยโรคพิษสุนัขบ้าสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับการเสด็จไปทรงออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ในพื้นที่ภาคใต้ ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2566 ตามคำกราบทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น เพื่อแก้ปัญหาสุนัขจรจัดภายในพื้นที่ของ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ปูชนียสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย และให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการประเมิน “มรดกทางวัฒนธรรม” เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียนเพื่อขึ้นสถานะเป็นมรดกโลก โดยมีความคืบหน้าในการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์ทางกายภาพแล้ว ร้อยละ 95 และจะเสนอให้กรมศิลปากรภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพื่อดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไป
โอกาสนี้ พระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 500 โดส แก่นายพรภิรมย์ ฟุ้งตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อนำไปฉีดสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่สุนัขและแมวในพื้นที่ พร้อมกับ ทรงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัข และพระราชทานป้ายห้อยคอสุนัข ในโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธาน ฯ” เป็นที่ระลึก
จากนั้น ทรงงานวิสัญญีทางสัตวแพทย์ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญด้านวิสัญญีสัตวแพทย์ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อผ่าตัดทำหมันและรักษาโรคต่าง ๆ ที่พบ เช่น โรคเนื้องอก และ โรคมดลูกอักเสบ ภายในรถผ่าตัดเคลื่อนที่ ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงในการปฏิบัติงาน
อีกทั้ง โปรดให้ทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ที่มีทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ จากสำนักงานปศุสัตว์เขต 8 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช เทศบาลนครนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย จังหวัดภูเก็ต (Soi Dog) ดำเนินงานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างครบวงจร เพื่อทำการรักษา ฉีดวัคซีน และผ่าตัดทำหมันควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมวทั้งที่มีเจ้าของและไร้เจ้าของ ซึ่งเป็นสัตว์จรจัดจากบริเวณโดยรอบ 5 วัด 6 ชุมชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งนี้สุนัขจรจัดที่มาเข้ารับบริการในครั้งนี้ จะนำไปดูแลต่อที่ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดในโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ในพื้นที่ภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเข้าสู่การบริหารจัดการปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
และอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยการจัดฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตลอดจนปลูกจิตสำนึกต่อการดูแลเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ทั้งด้านการดูแลสุขอนามัยที่ดี พร้อมกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรณรงค์ไม่นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยที่วัด หรือตามที่สาธารณะต่าง ๆ เพื่อไม่สร้างภาระและก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนในพื้นที่ สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
จังหวัดนครศรีธรรมราช มีจำนวนประชากรสุนัขและแมว รวม 188,539 ตัว โดยในปี 2566 ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมว รวม 158,373 ตัว คิดเป็น 84% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในพื้นที่ และผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวเพื่อควบคุมจำนวนประชากร รวม 11,254 ตัว โดยตลอดระยะเวลาของการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ครั้งนี้ มีสุนัขและแมว เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวม 975 ตัว และผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขและแมว รวมทั้งสิ้น 915 ตัว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักประธานสถาบัน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
25 กรกฎาคม 2566