ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน ณ จังหวัดเลย และอุดรธานี

19 ต.ค. 2566
6

         ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพอนามัยที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยทรงตระหนักดีว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของคนไทย มีสาเหตุจากโรคระบาดที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน จึงทรงเพียรพยายามในการนำความก้าวหน้าของวิทยาการสมัยใหม่ทั้งด้านการแพทย์และการสัตวแพทย์จากทั่วโลก มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานวิจัยเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาทั้งสุขภาพของคนและสัตว์ภายในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งทรงนำความรู้และพระประสบการณ์จากที่ได้ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพทางสัตวแพทย์ มาใช้ในการพัฒนางานด้านการสัตวแพทย์  เพื่อควบคุม ป้องกัน และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้สัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และปลอดภัยจากโรคร้ายแรงที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของคนและสัตว์ต่อไป 

ในการนี้ เสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในพื้นที่ภาคอีสาน ณ โรงเรียนเลยอนุกูลวิทยา จังหวัดเลย และ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 14-18 ตุลาคม  2566  โดยโปรดให้ทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์บูรณาการการทำงานร่วมกับทีมสัตวแพทย์ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในท้องที่ ให้บริการตรวจรักษาสุขภาพสัตว์ ผ่าตัดทำหมัน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์จรจัด และสัตว์เลี้ยงของประชาชน เพื่อสนองพระปณิธานฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ในท้องถิ่นให้ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้า การบริหารจัดการสัตว์เลี้ยงอย่างเป็นระบบ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามแนวชายแดน ซึ่งจังหวัดเลย เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรสุนัขและแมวจรจัดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอท่าลี่ อำเภอนาแห้วและอำเภอด่านซ้าย ที่อยู่ติดกับแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ยากต่อการควบคุมโรคติดต่อต่าง ๆ  และเป็นครั้งที่ 3 ที่ได้เสด็จมาทรงงาน ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) จังหวัดอุดรธานี เพื่อทรงติดตามและควบคุมปัญหาประชากรสุนัขและแมวจรจัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา ภายในอาณาบริเวณของวัดฯ มีสุนัขจรจัดเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก และพบว่ามีสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าไล่กัดเด็กถึงขั้นเสียชีวิต สร้างความเดือดร้อนให้แก่พระสงฆ์และประชาชนที่มาร่วมทำบุญด้วย   จึงมีพระวินิจฉัยอย่างเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาประชากรสัตว์จรจัด รวมถึงการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่โดยรอบ

ทันทีเมื่อได้เสด็จถึงพื้นที่ออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์  ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทรงงานวิสัญญีทางสัตวแพทย์ เพื่อวางยาสลบให้แก่สุนัข พร้อมกับทรงติดตามเฝ้าระวังสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด เพื่อทรงประเมินความปลอดภัยระหว่างการผ่าตัดทำหมัน และรักษาโรค ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นพบว่าเป็นโรคเนื้องอกที่หนังตาจึงทำการบำบัดรักษาโรค ภายในรถผ่าตัดเคลื่อนที่ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง พร้อมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการสัตวแพทย์อันทันสมัย ที่มาให้บริการช่วยเหลืองานด้านสัตวแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลอย่างทั่วถึง

โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ ปศุสัตว์จังหวัดเลย และปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี เฝ้ารับพระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ เพื่อนำไปฉีดสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการสัมผัสโรค จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันและสร้างความเข้มแข็งในระดับท้องถิ่นให้เป็นเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว  

            นอกจากนี้ ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเป็นรูปธรรม โปรดให้มีการจัดฝึกอบรมการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน โดยเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจปัญหาของโรค และวิธีดูแลปฏิบัติตนเองให้ห่างไกลจากโรค รวมถึงสร้างจิตสำนึกที่ดีในการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทอดทิ้งสัตว์ให้กลายเป็นภาระแก่สังคม และเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศชาติต่อไป

ตลอดระยะเวลาที่ได้เสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในการนำทีมบุคลากรทางด้านสัตวแพทย์ ทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาคร่วมกันปฏิบัติงานในนามของหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ออกหน่วยให้บริการบำบัดรักษา และเสริมภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างครบวงจร โดยบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกคนต่างมุ่งมั่นรวมใจกันสนองพระปณิธานฯ  ด้วยความตั้งใจ และเสียสละพร้อมอุทิศตนในภารกิจอันสำคัญนี้  ซึ่งการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ในพื้นที่จังหวัดเลย และอุดรธานี มีจำนวนสุนัขและแมวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมจำนวน 854 ตัว และผ่าตัดทำหมัน รวมจำนวน 653  ตัว นับเป็นอีกหนึ่งในพระภารกิจสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ”  ให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ให้ประเทศไทยปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน        

 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน

18 ตุลาคม 2566

 

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด

ข่าวสารล่าสุด

ล่าสุด