สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการประกวดควายสวยงามระดับประเทศ ประจำปี 2566 ในงาน “อุดรธานี วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก ครั้งที่ 2” ณ พื้นที่โคกหนองโกสาธารณะ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี

21 พ.ย. 2566
1

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปในการพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการประกวดควายสวยงามระดับประเทศประจำปี 2566 ในงาน “อุดรธานี วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก ครั้งที่ 2 จัดโดย จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยในพระอุปถัมภ์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงควายในจังหวัดอุดรธานี ณ พื้นที่โคกหนองโกสาธารณะ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี

          โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศแก่เกษตรกรผู้ชนะเลิศในรุ่นควายยอดเยี่ยม (Grand champion) เพศผู้ ชื่อปีใหม่ จากจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนเพศเมีย ชื่อข้าวหอม จากจังหวัดชัยนาท ส่วนควายที่ชนะเลิศในรุ่นรองควายยอดเยี่ยม (Reserve champion) เพศผู้ ชื่อวันเจริญ จากจังหวัดหนองบัวลำภู และเพศเมีย ชื่อทองทิพย์ จากจังหวัดหนองคาย รวม 4 รางวัล ซึ่งปีนี้มีควายไทยสวยงามที่ส่งเข้าประกวดทั่วประเทศ รวมจำนวน 686 ตัว ยังความปลาบปลื้ม และน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยด้วยการส่งเสริม สนับสนุนการดูแลเลี้ยงควายไทยให้ดำรงอยู่คู่กับสังคม และวิถีเกษตรกรรมของไทยได้อย่างมีคุณค่า ด้วยปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดงานดังกล่าว ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ควายไทยให้กลับมามีส่วนร่วมในวิถีชีวิตของคนไทยอีกครั้ง

          พร้อมกันนี้ พระราชทานเข็มที่ระลึกเนื่องในโอกาสจัดกิจกรรมการประกวดควายสวยงามชิงถ้วยพระราชทานฯ แก่ผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมฯ จำนวน 60 ราย และพระราชทานพระวโรกาสให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ เฝ้าถวายกระบือพันธุ์สวยงาม เพศผู้ จำนวน 4 ตัว เพื่อทรงนำไปปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ลักษณะสวยงามตรงตามมาตรฐานสากล

          จากนั้น เสด็จพระดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการ “อุดรธานี วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก” ซึ่งจัดแสดงความเป็นมา การดำเนินงานของคลินิกหมออาสา โดย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี ได้สร้างเครือข่ายอาสาสมัครปศุสัตว์ เฝ้าระวังโรคป้องกันปากเท้าเปื่อยกับโรคคอบวมพร้อมดูแลสุขภาพอนามัยให้แก่ควาย และให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สัตว์เลี้ยงในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ทั้งนี้ ควาย หรือ กระบือ ถือเป็นสัตว์พื้นเมือง เป็นมรดกคู่วิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน จังหวัดอุดรธานี จึงต่อยอดส่งเสริมด้านวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา วิถีชีวิต โดยสร้างอัตลักษณ์ผสมผสานให้เข้ากับผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นอีสาน ที่เกี่ยวกับวิถีคน วิถีควาย เช่น การทอเสื่อกกขิดลายควาย การทอผ้าขิดลายควาย และการทำเครื่องปั้นดินเผารูปควาย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม และธรรมชาติที่หลากหลาย รองรับการท่องเที่ยวเมืองรอง ที่มีการนำควายไทยเข้ามาให้เป็นฐานด้าน “นวัตวิถี” โดยนำร่องใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุดรธานี  อำเภอกุดจับ อำเภอหนองหาน และอำเภอบ้านดุง ซึ่งในอนาคตกำลังผลักดันให้พื้นที่โคกหนองโกสาธารณะแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยงแห่งใหม่ และโรงเรียนสอนบังคับควาย ปัจจุบัน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงควายทั้งจังหวัดรวม 13,287 คน และมีจำนวนควาย 69,571 ตัว นับเป็นอันดับ 10 ของประเทศ

          สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ โปรดให้นำกระบือทรงเลี้ยงในพระองค์ จำนวน 2 ตัว จากตำหนักทิพย์พิมาน จังหวัดนครราชสีมา ไปร่วมออกงานเพื่อให้ประชาชนได้ชมความสวยงามของกระบือที่เป็นมงคล มีลักษณะดี ได้แก่ คุณเพชรคราม และคุณศรีมงคล ซึ่งมีลักษณะรูปร่างเป็นพญาควาย ตามตำราโบราณ 5 อย่าง คือ หน้าดอก หางดอก กีบเท้าด่าง หางแบน ปากคาบแก้ว (บริเวณปากด่างเหมือนคาบแก้ว) โดยเชื่อว่าหากได้ครอบครอง จะพบแต่ความสุขความเจริญ การทำการเกษตรจะอุดมสมบูรณ์ เมื่อเจริญวัยจะทำหน้าที่ดูแลควายภายในฝูงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการจัดแสดงควายไทยสวยงามสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการประกวดและได้รับรางวัลมาแล้ว รวมถึงควายไทยแสนรู้ที่ผ่านการฝึกฝนเป็นอย่างดี ซึ่งทรงให้ความสนพระทัยยิ่งนัก และทรงสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่นให้มั่นคง และสืบสานตำนาน วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก ให้อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

20 พฤศจิกายน 2566

แท็ก

แชร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารล่าสุด