ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2566 เวลา 10.30 น.
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.30 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จำนวน 1,000 ชุด อาทิ ข้าวหอมมะลิ อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผ้าเช็ดตัว ยาสามัญประจำบ้าน และหน้ากากอนามัย ไปมอบแก่ ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จำนวน 500 ชุด และ อำเภอบางบาล จำนวน 500 ชุด โดยมี นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา นายอำเภอบางบาล และตัวแทนประชาชนผู้ประสบอุทกภัยเป็นผู้รับมอบสิ่งของพระราชทาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
ในการนี้ นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ได้เชิญพระกระแสความห่วงใยของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่มีต่อราษฎรผู้ประสบความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้รับทราบ ยังความปลาบปลื้มในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ และเป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทย สืบไป
ทั้งนี้ สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดขึ้นเนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาได้ระบายน้ำในอัตราเพิ่มขึ้นปริมาณ 600- 1,800 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำ (นอกคันกั้นน้ำ) ได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่อําเภอเสนา ผักไห่ บางไทร พระนครศรีอยุธยา อำเภอบางซ้าย และอำเภอบางบาล
สำหรับ อําเภอบางบาล ระดับน้ำในแม่น้ำน้อย และคลองต่าง ๆ เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ปัจจุบัน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 14 ตําบล ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 2,639 ครัวเรือน ทั้งนี้ทางจังหวัด อําเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และภาคเอกชน ได้เข้าไปดําเนินการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว
สำนักกิจกรรมพิเศษ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566