ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ลพบุรี และเพชรบูรณ์
ด้วยน้ำพระทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี นอกจากจะทรงเอาพระทัยใส่ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนในด้านต่าง ๆ แล้ว ทรงสนพระทัยในการพัฒนาด้านการสัตวแพทย์ เพื่อมุ่งส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพของสัตว์ให้ห่างไกลจากโรคร้ายแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคพิษสุนัขบ้า” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ จึงทรงสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านนี้แก่ภาครัฐอย่างเต็มพละกำลังและต่อเนื่อง ดังการเสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ในพื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 27-30 มกราคม 2567
เมื่อเสด็จถึงพื้นที่ทรงงานของแต่ละจังหวัด พระราชทานพระวโรกาสให้ปศุสัตว์จังหวัดเฝ้า รับพระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจังหวัดละ 500 โดส เพื่อนำไปกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์ ซึ่งถือเป็นการยกระดับในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกในระดับท้องถิ่น พร้อมกันนี้ทรงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัข และพระราชทานป้ายห้อยคอสุนัข ในโครงการ สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มปลอดภัย ทั้งนี้ ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชาชน และยังคงพบการแพร่ระบาดในบางพื้นที่ ปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา ผู้ที่ได้รับเชื้อโดยที่ไม่ได้รับการป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงทีมักเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์ก่อนการสัมผัสโรค จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยป้องกันและสร้างความปลอดภัยให้ทุกชีวิตสามารถรอดพ้นจากโรคพิษสุนัขบ้าได้
จากนั้น ทรงงานวิสัญญีทางสัตวแพทย์ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อตรวจรักษาและผ่าตัดทำหมันให้แก่สุนัขในพื้นที่ เพื่อควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ที่อาจเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนและสัตว์ได้ ซึ่งการทำหมัน เป็นการคุมกำเนิดถาวรที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าได้ดีที่สุด อีกทั้งยังช่วยให้สัตว์มีสุขภาพดีในระยะยาว และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่น มดลูกอักเสบ เนื้องอกเต้านม และภาวะต่อมลูกหมากโต เป็นต้น ทั้งนี้ สัตว์ที่เข้ารับการผ่าตัดทำหมันทุกตัว ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ตั้งแต่การให้ยานำสลบ การเฝ้าระวังสัญญาณชีพ ผ่านอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการสัตวแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อประเมินความปลอดภัยตลอดระยะเวลาการผ่าตัด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระวินิจฉัยเลือกวิธีใช้ยาสลบ ตามความเหมาะสมในสัตว์แต่ละตัว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดตั้งแต่เริ่มการผ่าตัดจนถึงหลังเสร็จสิ้นการผ่าตัดเป็นไปตามตามหลักวิชาการทางสัตวแพทย์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
31 มกราคม 2567