นักวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ รับพระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567″ จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โอกาสนี้ ได้พระราชทานเกียรติบัตรแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 178 รางวัล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งเชิดชูเกียรติประกาศเกียรติคุณแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ที่ค้นคว้าวิจัยมีผลงานดีเด่นระดับชาติ ซึ่งนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 รวม 3 รางวัล ได้แก่
1.รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช เรื่อง ฟ้าทะลายโจร: จากงานวิจัยพื้นฐานสู่การประยุกต์ใช้ (Andrographis paniculata: from Basic to Translational Research) ของห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายธุรการวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร่วมกันศึกษาและพัฒนาผลงานวิจัยในการนำองค์ความรู้พื้นฐานของการศึกษาวิจัยฟ้าทะลายโจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไปประยุกต์ใช้สมุนไพรในทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคโควิด-19 ซึ่งผู้ป่วยจำนวนมากได้ใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรทางเลือกในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ สามารถนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารสกัด และเทคโนโลยีการผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์มาตรฐานฟ้าทะลายโจรให้แก่ภาคอุตสาหกรรม นำไปใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นับเป็นการยกระดับงานวิจัยเพื่อการพัฒนายาสมุนไพรภายในประเทศ ให้สามารถทัดเทียมกับมาตรฐานของยาแผนปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
2.รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีสาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช เรื่อง ระบบการเตือนภัยและคาดการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชน (Early Warning and Predicting System for COVID-19 Outbreaks Using Wastewater-based Epidemiology) ของห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมี ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างระบบสาธารณสุขและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยผลงานวิจัยที่ครอบคลุมหัวข้อสำคัญตั้งแต่การพัฒนาวิธีการ และองค์ความรู้ใหม่ในการตรวจน้ำเสีย ตลอดจนการวิเคราะห์ และแปลผลเพื่อแจ้งเตือนและติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนจากการสัมผัสเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 การขยายผลการเฝ้าระวังการระบาดของโรคด้วยการตรวจหา เชื้อไวรัสในน้ำเสียในพื้นที่นำร่อง รวมถึงการประยุกต์ใช้กับโรคติดเชื้อชนิดอื่น ๆ เช่น โรคทางเดินหายใจต่าง ๆ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เป็นต้น
3.รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช เรื่อง การพัฒนากระบวนการทางเคมีแบบใหม่ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา การเติมพันธะคู่และปฏิกิริยาการเติมหมู่แอลคิลที่พันธะ C(sp3)-H ที่อยู่ห่างออกไปอย่างจำเพาะเจาะจง (Development of Selective Methods for Remote C(sp3)-H Desaturation and Alkenylation Reactions) ของ ดร.ปฎล ชื่นตระกูล นักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งขณะนี้ มีการศึกษาต่อยอดงานวิจัยนี้อย่างกว้างขวางมากกว่า 50 ผลงานจากทั่วโลก อีกทั้งมีการนำกระบวนการทางเคมีที่ค้นพบในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ไปใช้สังเคราะห์สารเคมีต่าง ๆ ตลอดจนการนำไปใช้ในการสังเคราะห์ยาของบริษัทยาขนาดใหญ่ด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของนักวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ได้มุ่งมั่นสร้างผลงานวิจัยอันทรงคุณค่า เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการ สังคม และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักองค์ประธาน
5 กุมภาพันธ์ 2567